ต่อเนื่องจากการร่วมกันอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย โดยครั้งนั้นพบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มาถึงครั้งนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร โดยการปฏิบัติงานอนุรักษ์ บูรณาการ ประสานความร่วมมือกันกับคณะสงฆ์ และภาคประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) อีกกำลังสำคัญร่วมกันอนุรักษ์

จากการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ประเภทคัมภีร์ใบลาน มีจำนวนมากถึง 425 มัด รวมกว่า 6,275 ผูก เอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไท 6 เล่ม ซึ่งถือ เป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก อีกทั้งเอกสารโบราณมีความสำคัญไม่แพ้ความสำคัญของวัด โดย คัมภีร์ใบลาน สืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสายถึง 3 สมัยซึ่งได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ อาทิ คัมภีร์เก่าแก่สมัยอยุธยา เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2186 อายุ 380 ปี

คัมภีร์ใบลานสมัยธนบุรี เรื่อง สารสังคหะ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2320 อายุ 246 ปี, คัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 อายุ 238 ปี ทั้งพบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อกันแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 โดยวัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่งเอกสารเดียวกัน

พร้อมกันนั้นยังสามารถศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่งฯลฯ ทั้งนี้พาตามรอยการอนุรักษ์ ความร่วมมือร่วมกันสืบรักษาเอกสารโบราณ “คัมภีร์ใบลาน” โดย วัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้ความรู้ ทั้งเล่าถึงความสำคัญของคัมภีร์ใบลานวัดเบญจมบพิตรว่า การอนุรักษ์เอกสารโบราณในโครงการฯนี้ใช้เวลาห้าเดือน ทำงานร่วมกันกับคณะสงฆ์และ อส.มศ. ซึ่งมีจิตอาสาทำงานอนุรักษ์ด้วยความมุ่งมั่น

“คัมภีร์ใบลาน เปรียบเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่คนโบราณใช้บันทึกสรรพวิทยาการต่าง ๆ ใบลานเป็นวัสดุที่มีความสามารถทนแดดทนฝนได้ดีระดับหนึ่ง ทั้งสามารถจารลงไปในเนื้อซึ่งจะคงอยู่ได้หากจัดเก็บรักษาให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ปราศจากมดแมลง สัตว์กัดกิน หรือนํ้าฝนไม่หกรดรั่วลงใส่ ก็จะสามารถคงอยู่ได้ยาวนานหลายร้อยปี”

แต่ด้วยกาลเวลาเปลี่ยน จากวัสดุใบลานเป็นกระดาษแบบปัจจุบัน คัมภีร์ใบลานจึงสะดุดหยุดอยู่กับที่ ไม่มีการผลิตซํ้าทำเพิ่มจึงกลายเป็นของเก่า อีกทั้งการขาดความเข้าใจในการดูแลรักษา ยิ่งมีโอกาสต่อการสูญหาย นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนาอธิบายเพิ่มอีกว่า คัมภีร์ใบลาน ส่วนใหญ่บันทึกหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา การได้พบคัมภีร์เก่าแก่มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เข้าถึงเข้าใกล้พระพุทธพจน์มากขึ้นเท่านั้น

คัมภีร์ใบลานยังเป็นหลักฐานสำคัญ มีคุณค่าทางศิลปะ มีองค์ประกอบอยู่เยอะมากไม่ว่าจะเป็น ไม้ประกับ ป้ายบอกคัมภีร์ ผ้าห่อคัมภีร์ ฯลฯ นวัตกรรมของคนโบราณที่เชื่อมโยงสื่อสารพาให้ผู้คนในปัจจุบันเข้ามาศึกษา เรียนรู้ โดยส่วนหนึ่งนี้บอกเล่าถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานในยุคสมัยต่าง ๆ

นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนาอธิบายเพิ่มอีกว่า สำหรับเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตรที่ดำเนินการอนุรักษ์ เราพบคัมภีร์ใบลานที่พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายชั้นสูง และขุนนางในราชสำนัก สร้างคัมภีร์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยที่สืบค้นและสำรวจพบโดยสังเขป ดังเช่นคัมภีร์ใบลาน เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า “เจ้าทับ” พ.ศ. 2386 อายุ 180 ปี
ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ 3 สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า “เจ้าทับ” ตามพระนามเดิมของพระองค์ และไม่ประทับตราพระราชลัญจกร

ส่วนต่อมาสำรวจพบคัมภีร์ 16 รายการ จำนวนถึง 288 ผูก โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงมีศรัทธาสร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนาทั้งบันทึกไว้เป็นการเฉพาะว่า “สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา สำหรับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อุทิศส่วนพระกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และอีกประการหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย และมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นไม่มีการผลิตซํ้าทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน

แต่ในความเป็นจริงคัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับวัดเบญจมบพิตร ซึ่งก็ทำให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของคัมภีร์ใบลานที่ยังคงมีอยู่ เป็นต้น

“การอนุรักษ์ครั้งนี้ยังเตรียมเสนอนำข้อมูลนำรายชื่อเรื่องคัมภีร์ที่ดำเนินการอนุรักษ์ให้กับทางหอสมุดแห่งชาติอัปโหลดสืบค้นได้ทางเว็บไซต์ลักษณะเดียวกับการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย โดยส่วนเนื้อหาอาจต้องพัฒนาต่อ แต่เบื้องต้นสำหรับนักศึกษา นักวิจัยที่ต้องการศึกษา ค้นคว้าจะช่วยให้เข้าถึง ข้อมูล เป็นอีกส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เอกสารโบราณด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน”

นอกจากนี้ คุณวัฒนา เล่าเพิ่มถึงการอนุรักษ์เอกสารโบราณอีกว่า การอนุรักษ์จะเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยก่อนจะออกรหัสเลขจะทำการคัดแยกและทำความสะอาด เมื่อคัดแยกจะทำให้รู้ว่าคัมภีร์ชำรุดเสียหายมากน้อยอย่างไร แมลงสัตว์กัดกินเปื่อยยุ่ยจนใช้การไม่ได้หรือไม่ ฯลฯ ก็จะแยกดี เสียออกจากกัน โดยส่วนดี ส่วนที่สามารถไปต่อได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ ซึ่งในขั้นตอนนี้ อส.มศ. จะช่วยกันทำความสะอาด โดยทางเราจะแนะนำวิธีถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำความสะอาดไปพร้อม ๆ กับการซ่อมแซมเบื้องต้น

“สายสนอง เชือกที่ผูกร้อยใบลาน ถ้าพบว่าเปื่อยยุ่ยก็จะเสริมเติมเข้าไป จากนั้นนักภาษาโบราณจะนำไป อ่านวิเคราะห์ ถ้ามีปกก็จะอ่านชื่อเรื่องตามปก ส่วนถ้าไม่มีปก จะอ่านเนื้อในเพื่อให้รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร แต่ถึงกระนั้นคัมภีร์ใบลานแม้จะมีปก แต่บางปก
อาจไม่ตรงกับเนื้อในซึ่งก็มีไม่น้อย ก็ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความถูกต้อง”

หลังจากการคัดแยกจะนำไป เข้าชุด หรือเข้ามัด โดยส่วนนี้เป็นความรู้เฉพาะทางอีกเช่นกัน จากนั้นนักภาษาโบราณจะนำไปให้ อส.มศ. เขียนเลขประจำผูก อย่างเช่นเลขที่ 25/1-7 หมายถึงเลขที่ 25 มีผูก 1-7 เป็นต้น จะเห็นว่าแต่ละขั้นตอนใช้เวลา มีรายละเอียด ทุกผูกจะเขียนเลขทั้งหมด จากนั้นจะประทับตราวัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ใบลานนี้เป็นของวัดเบญจมบพิตร

ขั้นตอนต่อมาจะ เขียนป้ายหน้ามัด เขียนสาระสังเขป เพื่อให้รู้ว่าในห่อผ้าคือเรื่องอะไร มีจำนวนกี่ผูก ไม้ประกับเป็นแบบใด ธรรมดาหรือเป็นไม้ประกับประดับงาช้าง ฯลฯ เป็นฉบับล่องชาติหรือทองทึบ อักษรอะไร ภาษาบาลีหรือไม่อย่างไร ฯลฯ ก็จะมีรายละเอียดเหล่านี้เขียนบอกไว้ด้านหน้า จากนั้นเป็นขั้นตอน ห่อมัดจัดเก็บ การห่อคัมภีร์ก็มีรายละเอียดที่น่าศึกษาและเมื่อแล้วเสร็จจะนำไปจัดเก็บในตู้พระธรรม เป็นวิธีการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานโดยสังเขป

นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนาให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า คัมภีร์ใบลานมีแง่มุมน่าศึกษาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่มาพร้อมกับคัมภีร์ใบลาน ไม้ประกับ ไม้ที่นำมาประกบสองข้างคัมภีร์ใบลาน เพื่อรักษารูปทรง บนตัวไม้ประกับมีลวดลายงดงาม ทั้งไม้ประกับธรรมดา ไม้ประกับลายกำมะลอ ไม้ประกับประดับมุก ฯลฯ หรือแม้แต่ เชือกมัดคัมภีร์ ผ้าห่อคัมภีร์ มีสายสนอง ซึ่งทุกส่วนบอกเล่าถึงความตั้งใจของคนโบราณที่สร้างสรรค์ขึ้น เป็นอีกส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดการอนุรักษ์เอกสารโบราณ

การบูรณาการทำงานอนุรักษ์ร่วมกัน เพื่อสืบรักษาคุณค่า และส่งต่อคุณค่าความสำคัญ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ