สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า รัสเซียเตรียมประจำการ “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์” ในเบลารุส เนื่องจาก “สหรัฐทำแบบนี้มาก่อนนานแล้ว” ดังนั้นอีกฝ่าย “จึงไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ”


ผู้นำรัสเซีย กล่าวต่อไปว่า แผนการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส และเปิดเผยอีกว่า รัฐบาลมอสโกมอบความสนับสนุนทางทหารให้แก่เบลารุส “โดยไม่ได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใดก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์” และตอนนี้ เครื่องบินของกองทัพอากาศเบลารุสอย่างน้อย 10 ลำ “พร้อมใช้งานลักษณะนี้” แต่ไม่มีการระบุว่า เป็นการมอบความสนับสนุนแบบใด


อย่างไรก็ตาม ปูติน กล่าวว่า รัสเซียติดตั้งระบบขีปนาวุธ “อิสกันเดอร์-เอ็ม” ให้กับเบลารุส เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับ “การคุกคาม” ของตะวันตก แทนระบบขีปนาวุธ “สกั๊ด” ที่เป็นเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต โดยกำหนดการฝึกฝนบุคลากรของเบลารุสในการใช้งานระบบอิสกันเดอร์-เอ็ม จะเริ่มในวันที่ 3 เม.ย.นี้


เกี่ยวกับการที่ตะวันตก หนึ่งในนั้นคือสหราชอาณาจักร มีแผนมอบกระสุนปืนใหญ่เจาะเกราะ ซึ่งส่วนหัวกระสุนมีส่วนประกอบของยูเรเนียมเสื่อมสภาพให้แก่ยูเครน ปูตินกล่าวว่า รัสเซียมีกระสุนแบบนี้เหมือนกัน “แค่ยังไม่เคยใช้” เนื่องจากอาวุธชนิดนี้ยังถือเป็นอาวุธที่อันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลมอสโก “จะตอบโต้” หากยูเครนใช้อาวุธชนิดนี้ซึ่งได้รับจากตะวันตก


อนึ่ง เบลารุส ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) มีพรมแดนติดกับสมาชิกนาโต 3 ประเทศ คือ โปแลนด์ ลัตเวีย และ ลิทัวเนีย ด้านนาโตยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ส่วนแหล่งข่าวในรัฐบาลวอชิงตันกล่าวว่า “ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้” ว่ารัฐบาลมอสโกเตรียมใช้อาวุธนิวเคลียร์.

เครดิตภาพ : REUTERS