แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าแล้วจะกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้ว CBAM ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ผลิตและคนค้าขายกับกลุ่มอียู โดยวันนี้เราจะพาไปอัปเดตเกี่ยวกับความคืบหน้าของ CBAM และแนวโน้มผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าของไทย

CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียูซึ่งจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสมาชิกอียู 27 ประเทศ ทำให้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเกินมาตรฐาน หากนำเข้ามาในแผ่นดินยุโรปจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงขึ้นตาม

สถานการณ์ล่าสุดในการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตบังคับใช้ CBAM จากเดิม 5 กลุ่มสินค้าได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยให้รวม ไฮโดรเจน และ สินค้าปลายนํ้าบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าเข้าไปด้วย

พร้อมกับกำหนดไทม์ไลน์ เริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ระหว่างการประกาศใช้ 1 ตุลาคม 2566-31 ธันวาคม 2568 จะยังไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยทันทีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปรับตัว เปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียก่อนและจะ เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า

ดังนั้น ต่อจากนี้เราจะต้องติดตามข้อมูลจากทางอียูอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับการใช้ตามมาตรฐาน CBAM ออกมาอย่างไร? เพราะตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า การเก็บค่าใบรับรองจะเก็บเท่าไร? สินค้าที่เข้าข่ายต้องจ่าย จะเป็นสินค้าทางตรงใน 7 กลุ่มเท่านั้น หรือว่าจะรวมถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบของ 7 สินค้านั้นด้วย ที่สำคัญมาตรฐานการวัดการปล่อยก๊าซฯ จะวัดจากอะไร และใช้มาตรฐานแบบไหน?

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าไทยคงหลีกหนีไม่พ้นผลกระทบอย่างแน่นอนเพราะบัญชีรายการสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ทั้ง 7 รายการที่ไทยส่งออกไปอียูหลายรายการมีสัดส่วนการส่งออกไปอียูค่อนข้างสูง โดยข้อมูลในปี 2564 พบว่าเหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่าส่งออกถึง 125.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก และน็อตและสกรู มูลค่า 95.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก

ดังนั้น ทิศทางมาตรฐาน CBAM ที่กำลังเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ที่จะต้องปรับตัวเตรียมรับมือผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน โดยเฉพาะการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมารายงานอียู ภายใต้มาตรการ CBAM ขณะเดียวกัน ควรพิจารณาทางเลือกใหม่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนตํ่า นำพลังงานสะอาด และหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM ในระยะยาว

ที่สำคัญหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) ก็ควรเพิ่มความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยเกิดความตื่นตัวรับกระแสการใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วย เพราะนับวันทั่วโลกยิ่งมีการนำมาตรการเหล่านี้ออกใช้อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ .