เราเป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคที่รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกมาได้อย่างหวุดหวิดด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคนั้น สมัยนั้นชาวไทยมิได้มีใครเป็นทาสแล้ว ต่างคนต่างทำมาหากินสะสมทรัพย์สมบัติเงินทอง แต่เมื่อเริ่มมีเงินเก็บสะสมแล้วเขาไปเก็บไว้ที่ไหน ตอนนั้นหลายคนอาจจะเก็บไว้ในตุ่มฝังดิน

แต่ก็ดูไม่น่าจะปลอดภัยเท่าไรนัก ทำให้ผมนึกถึงละครช่อง ONE 31 เรื่อง “รักแลกภพ” ที่ถึงแม้ในยุคนั้น จะเริ่มมีธนาคารต่างชาติมาตั้งอยู่ในเมืองไทย และมีธนาคารของไทยเกิดขึ้นแล้ว แต่ภารกิจของธนาคารส่วนใหญ่เน้นการค้า การแลกเปลี่ยนเงินตรา ยังไม่มีธนาคารใดที่รับฝากทรัพย์สินของคนไทยให้ปลอดภัย และส่งเสริมให้มีการออมที่เป็นระบบ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงมีพระราชปณิธานให้ตั้ง “คลังออมสิน” เป็นสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินราษฎรให้ปลอดภัย และเริ่มสร้างนิสัยรักการออมอย่างถูกวิธี โดยพระราชทานนามแบงก์ว่า “ลีฟอเทีย” ในปี พ.ศ.2450 และต่อมาพัฒนาเป็น “ธนาคารออมสิน” ในปี พ.ศ.2456

เนื่องในโอกาสธนาคารออมสินครบรอบ 111 ปี ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เรื่อง “ธนาคารกับความยั่งยืน” ผมทราบว่าท่านมารับตำแหน่งในช่วงวิกฤติ Covid-19 ขณะที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก จำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ท่านบอกว่ามีความตั้งใจปรับองค์กรให้ออมสินเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” และได้พัฒนายุทธศาสตร์ และแผนงานการขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการพัฒนาระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการธนาคาร ลดต้นทุนการดำเนินกิจการ เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการให้ได้มาก รายได้ที่เพิ่มขึ้นได้ส่งเป็นงบประมาณให้รัฐ กำไรที่เพิ่มนำมาทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสังคม ผมทราบว่ายุทธศาสตร์ธนาคารเพื่อสังคมจะเน้นการลดความยากจน SDG 1 และลดความเหลื่อมลํ้า SDG 10 และเมื่อมาดูเนื้องาน CSR และการพัฒนาสังคมจะเห็นว่าโครงการของออมสินครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ทั้ง 17 ข้อ

ผมยังมีประสบการณ์ที่ดีกับ “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ที่ธนาคารได้ร่วมงานพัฒนาชุมชนกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษา ได้ลงพื้นที่พูดคุยปัญหาต่าง ๆ กับชุมชน แล้วนำมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ชุมชนดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม บางโครงการเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ปรับปรุงดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด บางโครงการดูแลสุขภาพชาวบ้าน พัฒนาแหล่งอาหารปลอดสาร มีแพทย์พยาบาลอาสาออกตรวจสุขภาพเป็นระยะ และบางโครงการก็เป็นการออกแบบการท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาโฮมสเตย์ และซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังได้ทราบถึง “ต้นแบบการพัฒนาสังคมแบบองค์รวม” โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งซึ่งมีตัวอย่างที่จังหวัดน่าน ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทำการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ ส่งเสริมให้มีทุนสร้างโรงคั่วกาแฟ พัฒนาสินค้า และเปิดร้านกาแฟท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ ทั้งยังมีการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ปลูกต้นไม้ให้ภูเขาหัวโล้นกลับมาเขียวเป็นป่า ส่งเสริมการศึกษาพัฒนาโรงเรียนสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ เพื่อรักษาบ้านเกิดอย่างยั่งยืน ทั้งนี้น่านโมเดลกำลังค่อย ๆ ขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ผมนั่งฟังเรื่องราวดี ๆ จากคุณวิทัยตลอดการสนทนา ฟังไปก็ยิ้มไป ผมคิดว่าเป็นยุคที่ธนาคารออมสินมีความชัดเจนมากในบทบาท ธนาคารเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการขับเคลื่อนโดยผู้นำองค์กรที่เข้มแข็ง ผู้บริหารและพนักงานต่างร่วมแรงร่วมใจกัน ลูกค้าและคู่ค้าก็เห็นดีด้วยจึงร่วมกันสนับสนุน เครือข่ายต่าง ๆ ล้วนก็มีส่วนร่วมและประสานการทำงานตาม SDG ข้อ 17 ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีธนาคารเพื่อสังคมที่มีอายุยืนยาว 111 ปี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มิรู้ลืม ทั้งนี้ สามารถรับชมบทสัมภาษณ์คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ที่ เดลินิวส์ YouTube Channel ……