จากกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกมาเปิดเผยถึงคดีของ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ “แอม” ภรรยาของนายตำรวจจังหวัดราชบุรี ผู้ต้องหาคดี ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังเจ้าหน้าที่พบขวดสารพิษ “ไซยาไนด์” หลังบ้านของ แอม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีญาติของสาวชาวกาญจนบุรี มาร้องเรียนกองปราบปรามว่า ให้ช่วยคลี่คลายคดี เพราะต้องสงสัยว่าผู้ตายอาจถูกวางยาให้เสียชีวิต โดยคนร้ายต้องการทรัพย์สิน ซึ่งตำรวจพบว่าหญิงรายนี้ เป็นเจ้าหนี้ของ แอม และยังมีเจ้าหนี้รายอื่นอีก 10 ชีวิต ที่ตายอย่างปริศนาในลักษณะเดียวกัน ทำให้ตำรวจสงสัยว่า อาจเป็นการฆาตกรรมต่อเนื่อง โดยประสงค์ต่อทรัพย์สินของผู้ตาย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเพจ “Drama addict” ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีอันตรายอย่าง “ไซยาไนด์” (Cyanide) ว่า เป็นสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลน์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิก สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หาไซยาไนด์ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

“ไซยาไนด์” เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้น ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

อาการของคนที่ถูกพิษจากไซยาไนด์ ผู้ป่วยมักจะเริ่มปรากฏมีอาการหลังจากได้ไซยาไนด์ในเวลาสั้น ๆ เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หมดสติ ชัก และอาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 10 นาที ในรายที่รุนแรงน้อยกว่า จะกดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ ภาวะเป็นกรดในเลือดจะปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา ตรวจร่างกายพบผู้ป่วยตัวแดง สีบริเวณเยื่อบุแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยหยุดหายใจก็ตาม

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของ “marumothai.com” ยังได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับ ตารางความสัมพันธ์ในการตอบสนองของมนุษย์และสัตว์ต่อปริมาณความเข้มข้นของการได้รับ “ไฮโดรเจนไซยาไนด์ในอากาศ” โดยมีระดับความเข้มข้นสูง 270 จะเสียชีวิตทันที, 181 เสียชีวิตหลังได้รับ 10 นาที, 135 เสียชีวิตหลังได้รับ 30 นาที, 110-135 เสียชีวิตหลังได้รับ 30-60 นาที หรือนานกว่านี้, 45-55 ทนได้นาน 30-60 นาที โดยไม่แสดงอาการเฉียบพลัน, 18-36 แสดงอาการเล็กน้อยหลังได้รับนานหลายชั่วโมง

สำหรับ แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์นั้นเป็น “ก๊าซที่ไม่มีสี” ซึ่งก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม นอกจากนี้สารไนเตรตในบุหรี่ ทำให้เกิดไฮโดรเจนไซยาไนด์ สารนี้เป็นตัวสกัดกั้นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการหายใจหลายตัว ทำให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานที่กล้ามเนื้อหัวใจ และที่ผนังหลอดเลือด

รูปแบบของ ไซยาไนด์
Sodium Cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้

Potassium Cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายอัลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

Hydrogen Cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา

Cyanogen Chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม

สำหรับ ผู้ที่เสี่ยงที่จะได้รับ “ไซยาไนด์” มากที่สุดก็คือ เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น กลุ่มอาชีพดังกล่าว ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

กรณีสัมผัส “ไซยาไนด์” ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด โดยมีวิธีการรับมือดังนี้

สัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ “ไซยาไนด์” ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก ด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษไปด้วย จากนั้น จึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล

การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ

การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้น ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษา

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Drama-addict และ เว็บไซต์ marumothai.com