เมื่อวันที่ 26 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชี้แจงในเวที “นโยบายพรรคการเมืองกับความหวังในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว” ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะผลักดันการแก้ปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเน้นย้ำให้ส่วนราชการต้องทำงานอย่างบูรณาการ ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาอย่างจริงจัง และสนับสนุนการทำงานกับทุกภาคส่วน อีกทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้กับภาคประชาสังคมที่เป็นกลไกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำ ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องนี้ ผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ปัญหาความรุนแรงฯ ระดับชาติ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินการเป็นไปอย่างเพียงพอ มีประสิทธิภาพต่อการแก้ไขปัญหามากที่สุด
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ครอบคลุมการป้องกัน คุ้มครอง เยียวยา และฟื้นฟูดูแล โดยจะขับเคลื่อนในหลายแนวทาง อาทิ 1.จัดตั้งศูนย์ป้องกันการทำความรุนแรงระดับตำบลให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างกลไกระดับท้องถิ่นสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง รวมถึงปัญหายาเสพติดและการติดการพนัน ส่งต่อหน่วยงานระดับจังหวัดต่อไป ซึ่งภาครัฐต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ท้องถิ่น 2.ยกเครื่องวิชาหลักสูตรเพศศึกษาอย่างครอบคลุม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างเยาวชนให้เติบโตขึ้นด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดสังคมเสมอภาค เคารพในศักดิ์ศรีของผู้อื่น ทั้งชาย หญิง LGBTQ 3.เพิ่มอัตรากำลังตำรวจหญิงในแต่ละสถานีตำรวจ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่การรับเรื่องร้องทุกข์คดีความรุนแรง 4.ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนทุกประเภท ให้ระมัดระวังเรื่องการนำเสนอประเด็นความรุนแรง ต้องไม่หยามเกียรติ ทั้งในเนื้อหาข่าวหรือละคร และสร้างแรงจูงใจในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม และ 5.ส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมในทุกมิติ ต้องสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบกองทุน เพื่อดูแลและเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้ลุกขึ้นยืนในสังคมได้อย่างยั่งยืน
น.ส.รัชดา ยังได้ประกาศจุดยืนสนับสนุนข้อเสนอจากเครือข่ายภาคประชาชน ทั้ง 10 ข้อ ได้แก่ 1.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย 2.ปรับปรุงแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้เป็นแผนระดับชาติ มียุทธศาสตร์ และงบประมาณชัดเจน 3.จัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อประสานงานสหวิชาชีพ แก้ปัญหาความรุนแรง 4.เพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงให้ครบทุกสถานีตำรวจ 5.เพิ่มนักสังคมสงเคราะห์ประจำ อปท. ทั่วประเทศ 6.เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดที่เป็นปัจจัยร่วมก่อความรุนแรงอย่างครบวงจร รวมถึงการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสพติด 7.พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 8.ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกชุมชน เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรง 9.พัฒนาบริการฟื้นฟูเยียวยารอบด้านและระยะยาวสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรง 10.ส่งเสริมบทบาท และจัดสรรงบประมาณให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรง.