เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 27 เม.ย.-6 พ.ค. 66 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า ระยะนี้ (27-28 เม.ย. 66) ยังมีพายุฤดูร้อน (พายุฝนฟ้าคะนอง) บริเวณภาคตกลาง ภาคตะวันออก กทม. ปริมณฑล และภาคใต้ แต่ทั้งเชิงพื้นที่และปริมาณลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ต้องระวังลมกระโชกแรง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เนื่องจากทิศทางลมและอากาศยังแปรปรวน เป็นช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล ส่วนภาคเหนือยังมีอากาศยังร้อนบางพื้นที่ (ฝนน้อย) เนื่องจากยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออก พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมแรงขึ้นด้วย พี่น้องชาวเรือ ชาวประมง เดินเรือด้วยความระวัง ฝนที่ตกพอจะช่วยคลายร้อนและเพิ่มความชื้นในอากาศได้บ้าง

และ เฝ้าระวังอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค. 66 คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีมวลเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ทิศทางลมแปรปรวนอีกครั้ง ปริมาณฝนส่วนใหญ่ที่ตกในขณะนี้เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุม ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คลื่นลมมีกำลังปานกลาง แต่ระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ช่วงวันที่ 2-4 พ.ค. 66 คลื่นลมจะแรงขึ้น และ 5-6 พ.ค. 66 เริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางของลม จะเริ่มเปลี่ยนแปลงทิศทางเป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดจากทะเลอันดามัน เข้าสู่ฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และกลุ่มฝนจะเริ่มเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันตกไปทางตะวันออก เป็นช่วงเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูฝน (Pre monsoon) ต่อไป (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนฉบับที่ 1 (121/2566) มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2566 โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.