จากกรณี เพจ ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “หรือนี่คือร่องรอยการส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม คนที่ติดตามข่าว ATK 8.5 ล้านชิ้นนั้น จะทราบว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัทออสแลนด์แคปปิตอลจำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัทเวิลด์เมดิคัลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดกฎหมายชัดๆ” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ 5 หน่วยงานของรัฐ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) ได้ออกมาจดหมายชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยมีเนื้อหา ระบุว่า “เนื่องด้วย บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test”

ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้รับการกล่าวพาดพิงกรณีแพทย์ชนบททำหนังสือตั้งคำถามผ่านทางสื่อมวลชน ว่านี่คือร่องรอยการส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม และระบุว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดกฎหมายและเอื้อเอกชนหรือไม่

รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่  และควรมีการอาญัติและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์ชนบทยังได้กล่าวอีกว่า “องค์การเภสัชกรรมพอรู้ตัวว่า “พลาดแล้ว” จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ บริษัท ออสท์แลนด์แต่เป็น บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้แทนจำหน่าย ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสท์แลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อ เวิลด์ เมดิคอลฯ” ซึ่งสิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้ตั้งข้อสงสัยไว้คือ

1.ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า องค์การเภสัชกรรมได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทออสท์แลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น

กรณีนี้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ขอชี้แจงว่า “เมื่อบริษัทออสท์แลนด์ฯ ได้ทราบระเบียบการยื่นประมูลจากทาง องค์การเภสัช ที่ชี้แจงว่า หากกรณีบริษัทผู้นำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกันกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายพร้อมลงนามผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เพื่อเข้าร่วมการประมูลแทน  ในการนี้ บ.ออสท์แลนด์ฯ จึงได้  มอบอำนาจให้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ​ เป็นตัวแทนเข้ายื่นซองประมูล (ดังมีเอกสารแนบไปในครั้งนี้)

และทางบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ได้แต่งตั้งคุณศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการเข้าประมูลในนามตัวแทนบริษัทฯ จึงถือว่าการเข้าร่วมประมูลหาชุดตรวจ ATK ที่องค์การเภสัชฯ จัดประมูลนี้  บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ มิได้ทำผิดกฎการประมูลดังข้อกล่าวหาของแพทย์ชนบทแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังได้รับการยืนยันอีกว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ มีอีกหลายบริษัท ที่ได้แต่งตั้งให้บริษัทอื่นเป็นตัวแทนให้เข้ามาดำเนินการประมูล เหมือนเช่นที่ ออสท์แลนด์ แต่งตั้งให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ยื่นประมูลเช่นกัน

2.กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า  รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน และข่าว ที่ออกมา มีชื่อ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ  (มีเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมหลายคนร่วมในเหตุการณ์)

บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ขอชี้แจงว่า “ในกรณีนี้ ได้รับการชี้แจงจาก อภ.ว่า เมื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จับมือกับ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ในการเข้าร่วมประมูล ถือว่าเป็นในนามบริษัทเดียวกัน การอ้างอิงชื่อ ออสท์แลนด์ฯ บนกระดานเพียงบริษัทเดียวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สาเหตุเพราะ ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้ยื่นขอ อย.และเป็นผู้ได้รับอนุญาตใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหากลงลึกในรายละเอียด ทั้งสองบริษัทได้ทำเอกสารสัญญาระหว่างกันก่อนการยื่นประมูลอย่างถูกต้องทุกประการ การเขียนบนกระดานโดยนำเสนอให้ผู้ร่วมประมูลทราบราคาที่แต่ละบริษัทยื่นประมูลเท่านั้น ไม่ได้มีผลในด้านกฎหมายแต่อย่างใด”..