เมื่อวันที่ 3 ก.ย. แฟนเพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “หรือนี่คือร่องรอยการส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม คนที่ติดตามข่าว ATK 8.5 ล้านชิ้นนั้น จะทราบว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัทออสแลนด์แคปปิตอลจำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัทเวิลด์เมดิคัลอัลไลแอนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดกฎหมายชัดๆ

องค์การเภสัชกรรมพอรู้ตัวว่า “พลาดแล้ว” จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ออสแลนด์แต่เป็นบริษัทเวิลด์เมดิคัลอัลไลแอนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้แทนจำหน่าย ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสแลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อเวิลด์เมดิคัลฯ ดังปรากฏในหลักฐานเบื้องต้นทั้ง 3 รูปที่แนบมาด้วยคือ

1. องค์การเภสัชกรรมได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทออสแลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ ก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น

2. รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน มีชื่อบริษัทออสแลนด์หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อบริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ (มีเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมหลายคนร่วมในเหตุการณ์)

3. รูปในข้อ 2 สอดคล้องกับ ข่าวองค์การเภสัชกรรม 11 สิงหาคม 2564 (วันเปิดซองประกวดราคา) ระบุชัดเจนว่า “บริษัทออสแลนด์แคปปิตอลจำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด” ไม่ใช่บริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ

เมื่อเป็นประเด็นร้อน ข่าวองค์การเภสัชกรรม 2 กันยายน 2564 เพิ่งมา “ชี้แจงย้ำว่า ผู้ยื่นซองคือบริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทออสแลนด์ฯให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ” ซึ่งถือเป็นร่องรอยการส่อทุจริตที่สำคัญ

ชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องต่อ โรงพยาบาลราชวิถีในฐานะผู้แทนหน่วยบริการ สปสช.ในฐานะผู้จ่ายเงินงบประมาณซื้อ ATK กระทรวงสาธารณสุขในฐานะคณะกรรมการกำหนดแผนฯที่เป็นผู้รับรองราคาและสเปก กรมบัญชีกลางในฐานะผู้คุมกฎ และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องผู้ประมูลเป็นคนละรายกับผู้ลงนามในสัญญาให้ละเอียดโดยเร็ว ว่าเป็นการการกระทำที่ผิดกฎหมายและเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ และควรมีการอายัดและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

ATK ลอตนี้นอกจากมีความคลางแคลงสงสัยในคุณภาพแล้ว หากยังมีการประมูลที่ขาดธรรมาภิบาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตราบาปกำลัง 2 ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ควรเกิดขึ้น องค์การเภสัชกรรมเคยเป็นองค์กรแห่งความหวังของเราชาวแพทย์ชนบทและสังคมไทย มิควรต้องมัวหมองเพราะการบริหารที่ไม่ตรงไปตรงมาโดยผู้บริหารไม่กี่คน สังคมไทยและรัฐบาลต้องร่วมกันทำความจริงให้กระจ่างโดยเร็ว”..

ขอบคุณภาพประกอบ : ชมรมแพทย์ชนบท