จากกรณี “ตั๊กแตนปาทังก้า” หรือที่่ชาวบ้านในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เรียกว่าแมลง “กะโน้บ” (ภาษาเขมร) ถือเป็นแมลงที่ถูกขนานนามว่าเป็นศัตรูพืชอันดับต้นๆ ของชาวเกษตรกร เพราะพวกมันจะเข้ามากัดกินและทำลายพืชผลทางการเกษตร จึงทำให้ต้องใช้วิธีฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแทน คนที่ได้รับผลผระทบตามมาก็คือ “ผู้บริโภค” ที่เสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย แต่ปัจจุปันนี้ ฝูง “ตั๊กแตนปาทังก้า” หดหายไปจากพื้นที่ จนกลายเป็นของหายาก จะมีก็แต่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านนำมาเข้าส่งขายตามจังหวัดต่างๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมพงษ์ เชื้อทอง อายุ 53 ปี และนางมณีวรรณ เชื้อทอง อายุ 51 ปี 2 สามี-ภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ 10 บ.พรหมสะอาด ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีอาชีพเป็นครูประชาบาล ได้ตัดสินใจทดลองเพาะเลี้ยง “ตั๊กแตนปาทังก้า” เพื่อหวังสร้างอาชีพทำรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกช่องทางหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ ขอซื้อไข่ตั๊กแตนมาทดลองเลี้ยงจนประสบความสำเร็จ สามารถเพาะพันธุ์เพื่อขายต่อตามท้องตลาด มีลูกค้าและตลาดสั่งซื้ออย่างไม่ขาดสาย เรียกว่ามีเท่าไหร่ก็ไม่พอขายแน่นอน

โดย นายสมพงษ์ และนางมณีวรรณ เปิดเผยว่า ได้ลองเพาะเลี้ยงตั๊กแตยไว้บริโภคเอง เริ่มจากตรียมสถานที่เลี้ยงในระบบปิด ใช้มุ้งตาข่ายขนาดเล็กมทำเป็นโรงเรือนเพาะเลี้ยงรูปทรงสี่เหลี้ยม ขนาดประมาณ กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร ปูพื้นด้วยทรายผสมกากมะพร้าว จากนั้นก็นำไข่ตั๊กแตนมาเพาะไว้ เมื่อตั๊กแตนฟักออกมาแล้ว ก็เริ่มให้อาหารโดยการใช้ใบไม้อย่างใบกล้วยหรือหญ้า จากนั้นก็ฉีดพรมน้ำเช้าเย็น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว จากนั้นก็รอให้ตั๊กแตนมีอายุ 45 วัน ก็จะเริ่มผสมพันธุ์และออกไข่มาให้ได้เก็บ โดยจะใช้วิธีการนำกระบะทรายมาวางไว้เพื่อให้ตั๊กแตนมาวางไข่แล้วทยอยเขี่ยเก็บ ซึ่งการเก็บก็จะเริ่มทยอยเก็บครั้งหนึ่ง แล้วเว้นไว้อีก 2-3 วัน แล้วค่อยมาเก็บใหม่ และเมื่อตั๊กแตนอายุได้ 45 วัน ก็จะเริ่มทยอยจับตัวส่งขายแล้วนำชุดใหม่มาเลี้ยงแทน โดยโรงเรือนขนาดนี้ สามารถเลี้ยงตั๊กแตนได้นับหมื่นตัว ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 3 โรงแล้ว

สำหรับราคาการซื้อขายตั๊กแตน อยู่ที่กิโลกรัมละ 450 บาท แต่หากขายเป็นไข่ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท หรือขีดละ 1,000 บาท เป็นอีกอาชีพใหม่ที่น่าสนใจ เพราะมีค่าตอบแทนที่ดี ตลาดต้องการสูง ตั๊กแตนถือเป็นอาหารโปรตีนชั้นดี มีคนนิยมรับประทานกันอย่างกว้างขวาง ขั้นตอนการเลี้ยงก็ง่าย ลงทุนต่ำ มีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรมาติดต่อขอซื้อกันไม่ขาด.