“ภาพยนตร์เงียบ” หรือ “หนังเงียบ” อีกหนึ่งเสน่ห์แห่งโลกจอเงิน อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ ทั้งนี้ พาย้อนชมความคลาสสิกหนังเงียบจากเทศกาลภาพยนตร์เงียบประเทศไทย โดยหอภาพยนตร์นำภาพยนตร์เรื่องพิเศษฉายพร้อมประกอบดนตรีสด โดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้ความรู้ พาสัมผัสสุนทรียศาสตร์ความคลาสสิกของภาพยนตร์เงียบว่า ก่อนการเริ่มขึ้นของภาพยนตร์เสียง ภาพยนตร์หรือหนังที่จัดฉายเป็นที่ทราบกันว่าไม่มีเสียง ทั้งนี้ เพราะเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นไม่สามารถบันทึกเสียงลงในภาพยนตร์ได้ หนังจึงไม่มีเสียงสนทนา จึงเรียกกันว่าหนังเงียบ

แต่ทั้งนี้ หนังเงียบก็ไม่ได้เงียบไปทั้งหมด หรือไม่มีเสียงใด ๆ จะเป็นการเงียบแต่ในตัวหนัง เวลาฉายหนังจะมีดนตรีเล่นประกอบอย่างเช่น เปียโน สักตัวหนึ่งนำมาเล่นประกอบหนัง หรืออาจมีเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น ฮาร์ป ออร์แกน หรือไทยเรานำแตรวง มาเล่นบรรเลงประกอบ เป็นต้น ขณะเดียวกันยุคหนังเงียบของไทยเราได้รับอิทธิพลของการพากย์เสียง ซึ่งการพากย์เป็นอีกศาสตร์ที่
เริ่มเข้ามา

“การนำดนตรีมาประกอบภาพยนตร์มีทั้งการเล่นสด การบันทึกเสียงดนตรีสดลงแผ่นเสียงโดยเมื่อฉายหนังจะเปิดแผ่นเล่นประกอบไป ขณะเดียวกันมีความพยายามที่จะบันทึกภาพและเสียงไปพร้อมกันซึ่งในปี ค.ศ. 1927 ถือเป็นช่วงเริ่มต้นการพัฒนาหนังเสียงและมีหนังเสียงออกฉาย”

รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์คุณสัณห์ชัย กล่าวเพิ่มอีกว่า ความน่าสนใจของหนังเงียบจากอดีตจวบปัจจุบัน หนังเงียบเป็นภาพยนตร์ที่มีความคลาสสิกด้วยตัวของภาพยนตร์ เป็นหนังอีกยุค หลังจากก้าวสู่ยุคหนังเสียงเมื่อผ่านวันเวลา จากที่ได้ชมหนังที่มีเทคโนโลยีลํ้า ๆ ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก มีระบบเสียงครบครัน ฯลฯ เมื่อย้อนกลับมาชมจะสัมผัสกับความคลาสสิกในแง่มุมต่าง ๆ เรียนรู้ได้จากภาพยนตร์

“ปัจจุบันหนังเงียบยังคงต่อติด เข้าถึงได้ โดยยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ชม เมื่อย้อนกลับไปชมจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ส่วนเรื่องน่าติดตามก็มีอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างเล่าถึงหนังเงียบที่นำมาฉายในเทศกาลหนังเงียบฯ ที่เพิ่งผ่านไป โดยปีนี้นำหนังเงียบคลาสสิกหลายอรรถรส สำหรับกลุ่มเด็กและครอบครัว และความเข้มข้นสำหรับแฟนหนังเงียบ สร้างประสบการณ์การชมหนังเงียบให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ”

คุณสัณห์ชัย รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์กล่าวเพิ่มอีกว่า หนึ่งในหนังเงียบที่อยู่ในความทรงจำคือ หนังของชาร์ลี แชปลิน โดยข้อโดดเด่นคือความเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความคิดที่มีต่อสังคมและมนุษย์ หนังของเขาเหนือกาลเวลามาก โดยมุกตลกที่ได้เห็น อะไรหลาย ๆ อย่างในตัวการแสดงของเขาในผลงานของเขา ในหนังทุกวันนี้ก็ยังคงได้เห็น โดยครั้งนี้นำเรื่อง The Kid มาฉาย โดยคุณ Maud Nelissen นักเปียโนบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้

“ภาพยนตร์เงียบ The Kid (1921) ภาพยนตร์ขนาดยาวของ ชาร์ลี แชปลิน และเป็นครั้งแรกที่เทศกาลหนังเงียบฯ นำหนังของแชปลินมาฉาย เป็นโปรแกรมสำหรับเด็กและครอบครัว โดยหากได้ชมจะเห็นถึงความคลาสสิกทั้งเป็นโอกาสที่จะได้ดูหนังและดนตรีประกอบไปพร้อมกัน หนังเงียบเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของชายพเนจรที่บังเอิญพบทารกถูกทิ้งไว้ข้างถนน และตัดสินใจเก็บมาเลี้ยงไว้จนโต หนังนำเสนอความแปลกใหม่ ผสมผสานระหว่างการเป็นหนังเรียกนํ้าตาและหนังตลกชวนหัว เต็มไปด้วยฉากน่าจดจำ โดย The Kid ประสบความสำเร็จทันทีในปีที่ออกฉาย และปัจจุบันยังคงได้รับการเชิดชูเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชิ้นเอกของโลก”

อีกเรื่องพิเศษ Foolish Wives (1922) หนังเงียบเรื่องสำคัญของผู้กำกับ เอริค ฟอน สตรอไฮม์ ที่ได้รับการบูรณะใหม่อย่างสมบูรณ์ โดยก่อนหน้าหนังเงียบเรื่องนี้เคยฉายในเทศกาลฯมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่เป็นฉบับที่ยังไม่ได้บูรณะและสั้นกว่า อีกทั้งเป็นหนังที่คุณต่วน ยาวะประภาษยกย่อง พูดถึงชีวิตมนุษย์ กิเลสและจิตใจมนุษย์ ฯลฯ อีกหนึ่งเรื่องที่คลาสสิก ให้มุมมองแง่คิด อีกทั้งหนังเงียบเรื่องนี้ในต่างประเทศก็ให้ความสนใจ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ทุนสร้างสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯลฯ

นอกจากนี้นำหนังเงียบชีวประวัติ Beethoven (1927) ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเนื่องในวาระ 100 ปีการเสียชีวิตของ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน
คีตกวีชาวเยอรมัน โดยหอภาพยนตร์มีแนวคิดนำมาฉายนานแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงชะลอออกไป และอีกหนึ่งหนังเงียบ Peter Pan วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่หลายคนรู้จักนำมาฉาย โดย ปีเตอร์แพน ฉบับหนังเงียบฉบับปี 1924 เป็นฉบับที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสนุกสนาน สดใสและยังมีอีกหลายเรื่องราวน่าติดตามเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่ค้นได้จากหนังเงียบเรื่องนี้

ในส่วนหนังเงียบของไทย รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ คุณสัณห์ชัย อธิบายเพิ่มว่า หนังเงียบของไทยอาจมีไม่มากด้วยที่เราเพิ่งทำหนังโดยหนังเรื่องแรก โชคสองชั้น ก็สร้างขึ้นในปี 1927 ซึ่งก็เป็นปีที่ภาพยนตร์ก้าวไปสู่หนังเสียง ทั้งนี้ โชคสองชั้นเป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องยาว ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ดังนั้นระยะเวลาของยุคหนังเงียบของไทยจึงมีอยู่ไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นหนังเสียงเหมือนฝรั่ง จึงมีหนังเงียบจริง ๆ ไม่ถึง 20 เรื่อ งและทุกเรื่องแทบไม่มีฟิล์มหลงเหลืออยู่ อาจมีเพียงแค่เศษฟิล์มเล็ก ๆ

อีกทั้งมีหนังเงียบ ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง แหวนวิเศษ ภาพยนตร์เงียบที่พระองค์ถ่ายทำขณะ
เสด็จประพาส ฟิล์ม 16 มม. ขาว-ดำที่หลงเหลืออยู่อย่างครบสมบูรณ์ เป็นภาพยนตร์เงียบ มรดกหนังเงียบทรงคุณค่า ได้รับการขึ้น
ทะเบียนมรด­กภาพยนตร์ของชาติ ยังมี กะเทยเป็นเหตุ ภาพยนตร์สมัครเล่นแนวตลกใช้กลวิธีการเล่าแบบหนังเงียบ

หนังเรื่องนี้ถ่ายทำขึ้นราวปี 2498 พนักงานธนาคารได้รวมตัวกันทำหนังถ่ายทำฉายแลกเปลี่ยนกัน เล่าถึงเรื่องความรักของหนุ่มสาว แต่สุดท้ายหญิงสาวเปิดเผยว่าเธอไม่ใช่หญิง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าติดตาม ถ่ายทอดเล่าถึงยุคสมัยของหนัง ความเป็นหนังเงียบไทยที่ต่างจากหนังเงียบต่างประเทศ และบรรยากาศการชมภาพยนตร์ที่ต่างไปจากปัจจุบัน ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของหนังเงียบไทยที่เหลืออยู่ ซึ่งย้อนชมได้ทางยูทูบหอภาพยนตร์

หนังเงียบจากที่กล่าวเป็นหนังที่มีเสียงดนตรีสดประกอบ การชมการบรรเลงดนตรีสดพร้อมกับฉายภาพยนตร์ การนำสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี นำบรรยากาศ นำภาพยนตร์ที่มีอายุไม่น้อยกว่าร้อยปีนำกลับมาฉายอีกครั้ง และทุกครั้งของเทศกาลฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เปิดพื้นที่ให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือนักดนตรีไทยได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมส่งต่อการอนุรักษ์ภาพยนตร์

ส่งต่อความสำคัญของหนังเงียบ บอกเล่าศิลปะประวัติศาสตร์ภาพยนตร์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ