กทม.ในฐานะ“เมืองหลวง”และน่าจะเป็นพื้นที่“ผู้นำ”บทบาท LGBTQ+ ปัจจุบันขับเคลื่อนความต่างทางสังคมนี้อย่างไรบ้าง “ทีมข่าวชุมชนเมือง” ชวนพูดคุยกับ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งสะท้อนมุมมองและแนวทางเดินหน้าไปกับความหลากหลายนี้อย่างกลมกลืน
นโยบายที่สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
นายศานนท์ ระบุ ประเด็นใหญ่ของเพศหลากหลายไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิต่างๆที่พูดถึง แต่“Hate Crimes : อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” หรือวาทะสร้างสงครามความเกลียดชังระหว่างมนุษย์ ด้วยแค่มองว่าเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน หรือเป็นอะไรก็ตามคือ“คนผิดบาป” Hate Crimes จึงถือเป็นประเด็นใหญ่ ตั้งแต่ผู้ว่าฯกทม.เข้ารับตำแหน่งจึงประกาศชัดว่า เรารับรองความเป็น LGBTQ+รับรองความเท่าเทียมกัน มีสิทธิเหมือนๆกัน
การล่วงละเมิดด้วยคำพูดจนเกิดเป็น Hate Crimes ต่างๆเป็นสิ่ง“ต้องห้าม”ในองค์กรนี้ ตามประกาศกทม. เรื่อง นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และการป้องกันการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน นอกจากนี้ ยังยอมรับเงื่อนไขการแปลงเพศได้ สามารถใส่ชุดตามเพศสภาพได้ และมีบริการสาธารณสุข ผ่านคลีนิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic)
ฝ่าข้อจำกัด “ท้องถิ่น”เริ่มต้นล้ำหน้าไปแล้ว
นายศานนท์ มองสังคมว่ามีหนึ่งข้อสังเกตที่ชอบคือ ในประเทศซีกตะวันตก ภาครัฐมีกฎหมายแล้ว เช่น จะแต่งกายอย่างไรก็ได้เสรี สามารถมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ แต่สังคมบ้านเขายังไม่ยอมรับ ยังมีการกดขี่กันอยู่ ขณะที่บ้านเราแตกต่างกัน สังคมยอมรับแล้ว แต่กฎหมายแค่“ล้าหลัง”กว่าสังคม การสวนทางนี้มองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ
หากมองว่ากทม. เริ่มแล้ว ในมุมมองของตน กทม.ก็ยังล้าสมัยกว่าบริษัทเอกชนเยอะมาก หรือล้าสมัยกว่าในหลายสังคมที่เริ่มไปแล้ว อย่างในมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้แต่งตัวรับปริญญาตามเพศสภาพได้แล้ว หลายที่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น การที่กทม.เริ่มต้นจึงยังช้ากว่าหลายองค์กร หรือในท้องถิ่นอื่นก็สามารถยกระดับได้ มีอิสระนำร่องในบางเรื่อง เช่น การจดทะเบียนสมรส ซึ่งยังไม่สามารถทำได้เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่กทม.นำร่องให้จดแจ้งคู่ชีวิต ที่ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งเรื่องที่เริ่มต้นได้
“ผมเชื่อว่าในหลายท้องถิ่น เราไม่จำเป็นต้องรอในข้อจำกัดบางเรื่องของภาครัฐ เราก็สามารถเริ่มได้ในบริบทของเราเอง”
ความหลากหลายไม่จบแค่เดือนไพรด์
นายศานนท์ ย้ำ Pride Month ไม่ใช่แค่เดือนมิ.ย. แม้จะมีกิจกรรมปิดถนนเดินพาเหรดได้ปีละ 1 วัน แต่แท้จริงแล้วสามารถโอบกอดความเท่าเทียม ความหลากหลายได้ทุกเดือน ทุกวัน เรื่องของ LGBTQ+ เป็นมิติที่ถูกซ่อนอยู่ในทุกเทศกาล เช่น เทศกาลภาพยนตร์มีหนังหลายเรื่องพูดกลุ่ม LGBTQ+ เลยถูกนำมาฉาย ,ในเทศกาลดนตรี ก็มีดนตรีหลายเพลงที่เป็นดนตรีของกลุ่ม LGBTQ+ หรือในเทศกาลกีฬาก็มีเช่นกัน
“การที่เราพูดถึงความหลากหลายมันสามารถทำผ่านเทศกาลได้ทุกเทศกาล และกทม.ก็จะไม่พูดเรื่องนี้เพียงเดือนเดียว แต่เราจะสนับสนุนเรื่องนี้ในทุกเดือน”
ฟังมุมมองฝ่ายบริหารไปแล้ว ลองมาฟังสุ้มเสียงหนึ่งในบุคลากร LGBTQ+ สะท้อนการทำงานให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้าง
“ครูอิสซี่” หรือนายกันตพัฒน์ สุวรรณเรือง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ รร.วัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ สำนักงานเขตปทุมวัน เผย รร.ของครูถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงด้านสภาพสังคมการทำงาน อาจเพราะที่นี่ให้การยอมรับ แต่ทุกคนก็ชื่นชมนโยบายกทม.ที่เปิดกว้าง ยอมรับคุณค่า ส่งผลให้กลุ่ม LGBTQ+ในสถานศึกษาตระหนักถึงหน้าที่มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสังคมเปิดโอกาสและยอมรับมากขึ้นแล้ว การทำงาน การวางตัว การแต่งกาย จะทำงานให้มีคุณภาพและวางตัวเหมาะสม สง่างาม
อย่างไรก็ตาม หากถามถึงอุปสรรคในที่ทำงาน ครูอิสซี่ มองว่า กลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นคนค่อนข้างพิเศษ มีอารมณ์ขัน มีรอยยิ้ม ปรับตัวเข้ากับคนง่าย ถ้าโดยเนื้องานมักจะไม่มีปัญหา ทั้งยังมองว่าคนเหล่านั้นสามารถแสดงศักยภาพ รวมถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพให้กับองค์กรได้ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ไม่ได้ยอมรับให้คนเหล่านั้นเป็น“หัวหน้างาน” (ถึงแม้จะมีความสามารถ) เพราะสังคมยังยึดติดกับหน้าตาและภาพลักษณ์
ท้ายนี้ ฝากถึงหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ อยากให้ทุกคนเปิดใจและเปลี่ยนมุมมองว่า คนทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน “คุณภาพ”ของงานเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า“เพศสภาพ” การวางตัวบุคคลที่เหมาะสมกับงาน และตำแหน่ง ย่อมทำให้ได้งานที่มีคุณภาพตามไปด้วย.
ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน