เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว. ร่วมกันส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ไม่บังควรนำรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีปัญหา ขึ้นทูลเกล้าฯ

นายเสรี กล่าวว่า ข้อมูลที่นายนพรุจยื่นเรื่องการถือหุ้นสื่อของนายพิธา สอดคล้องข้อมูลที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ตรวจสอบอยู่ ในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.จะไปพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ขอทราบความคืบหน้ากระบวนการการทำงานของ กกต. ภายหลังการรับรอง ส.ส. และความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง จะนำหลักฐานถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา และข้อมูลถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่น กกต. นำไปเทียบเคียงให้เห็นช่วงเวลากระบวนการจัดการมรดกเรื่องหุ้นกับที่ดินมีความเชื่อมโยงกัน กรณีการครองที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพิธา แจ้งว่า ได้โอนที่ดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นของตนในฐานะทายาทปี 60 แสดงให้เห็นทรัพย์สินทุกอย่าง มีการจัดการมรดกมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว

ถ้านายพิธาไม่ประสงค์รับหุ้นไอทีวี ต้องโอนไปตั้งแต่ปี 60 ไม่ถือครองมาถึง 17 ปี นอกจากนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ทรัพย์มรดกตกทอดเป็นทรัพย์สินของทายาททันทีที่เจ้ามรดกเสียชีวิต เท่ากับนายพิธาถือครองหุ้นไอทีวีในฐานะผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก การโอนหุ้นไอทีวีของนายพิธายืนยันว่า เป็นเจ้าของหุ้น แม้อ้างโอนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่หุ้นที่โอนไป นายพิธามีหุ้นส่วนอยู่ ขึ้นอยู่กับมีเพียงส่วนหนึ่ง หรือเป็นเจ้าของทั้งหมด

หลังจากนี้ ส.ว. จะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 25 คน จาก ส.ว. 250 คน ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภายื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของนายพิธาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ที่ระบุต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามถือครองหุ้นสื่อ ในฐานะที่ ส.ว. มีส่วนร่วมโหวตนายกฯ เมื่อมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม ย่อมยื่นตีความได้ ควรยื่นให้ตรวจสอบก่อนจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หาก กกต. ไม่ยื่นตีความคุณสมบัตินายพิธาก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว. จะเข้าชื่อยื่นตีความคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของนายพิธา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ว. ยื่นตีความคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของนายพิธา จะทำให้ปลุกกระแสสังคมออกมาต่อต้านหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระแสสังคมคือส่วนหนึ่ง ความถูกต้องคือส่วนหนึ่ง ถ้ากระแสสังคมไม่ถูกต้อง จะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับกระแส ถ้ายึดแต่กระแส ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เมื่อถามว่า นายพิธาอยากให้ ส.ว. ยึดหลักเกณฑ์โหวตนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมาก เหมือนปี 62 นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่ ส.ว. ต้องพิจารณาคือ คุณสมบัติและความเหมาะสม ต่างจากปี 62 ที่ไม่มีการเสนอแก้ไข มาตรา 112 การให้ยึดมาตรฐานปี 62 มาใช้วันนี้คงไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้ ดุลพินิจแต่ละช่วงเวลา สถานการณ์ และตัวบุคคลต่างกัน พฤติกรรมการแสดงออกทุกเรื่องคือ สิ่งที่ ส.ว. จะนำมาประกอบการตัดสินใจ มาตรฐานการเลือกนายกฯ ครั้งที่แล้วมาใช้ครั้งนี้ไม่ได้ การที่นายพิธาอ้างมีเสียง ส.ว. เพียงพอได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถ้ามากพอก็เป็นเลย เท่าที่ปรากฏยังไม่เห็นมีใครแสดงออกชัดเจน รายชื่อ ส.ว. 17 คน ที่เคยปรากฏชื่อสนับสนุน หลายคนปฏิเสธถูกเอาชื่อไปใส่โดยไม่เคยพูด ทุกคนพูดตรงกัน ถ้าได้เสียงข้างมากแล้วยังแก้มาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่นๆ ส.ว. จะโหวตให้หรือไม่ นายเสรี ตอบว่า ต้องดูมีปัญหาแก้มาตรา 112 และคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ มีนโยบายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ พฤติกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นเหตุผลที่ ส.ว. จะนำมาตัดสินใจ เมื่อถามว่า หากชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย ส.ว. สบายใจขึ้นหรือไม่ นายเสรี ตอบว่า ไม่ใช่เรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ เป็นเรื่องที่ ส.ส. จะไปตกลงกันให้สบายใจ รวบรวมเสียงมา ส.ว. จะพิจารณาเลือกคนไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย จะมีภาษีมากกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นใคร พรรคเพื่อไทยมี 3 ชื่อ จะเสนอใคร ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อนว่า บุคคลนั้นเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องพิจารณาในเกณฑ์เดียวกัน

“ผมเชื่อว่า นายพิธาได้เสียงไม่พอเป็นนายกรัฐมนตรี เสียง ส.ว. ที่หนุนนายพิธาชัดเจนมีไม่เกิน 5 เสียง การตัดสินใจของ ส.ว. ไม่ได้มีใบสั่งจากใคร แต่เป็นใบสั่งจากประชาชน 14 ล้านเสียงที่นายพิธาได้มา ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนมีสิทธิลงคะแนน 50 ล้านคน ใช้สิทธิ 40 ล้านคน เลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียง แสดงว่า 14 ล้านเสียง เป็นเสียงข้างน้อย การที่เสียงข้างมากไม่เลือกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญว่า เหตุใดไม่เลือก ส.ว. ไม่ได้ขัดแย้งกับ 14 ล้านเสียง แต่ทำตามเสียงข้างมาก” นายเสรี กล่าว