เมื่อเวลา 17.29 น. วันที่ 4 ก.ค. 66 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี กรมศุลกากร ณ ลานหน้าอาคารที่ทำการกรมศุลกากร เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จฯ ถึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรมศุลกากร

จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นลานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทรงเจิมแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ

สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นมาเนื่องในวาระ ครบ 168 ปี หรือ 14 รอบ แห่งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พุทธศักราช 2564 กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานที่กำหนดขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 โดยให้รวมการภาษีขาเข้าร้อยชักสามกับการภาษีขาออกเบ็ดเสร็จเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็นกรมศุลกากรให้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีขาเข้า-ขาออก เพื่อเป็นรายได้แผ่นดินนำพาประเทศเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศจวบจนทุกวันนี้ จึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้น ณ กรมศุลกากร เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสักการะ และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อกรมศุลกากรและปวงชนชาวไทย โดยประประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารที่ ทำการกรมศุลกากร ขนาด 1 เท่าครึ่งพระองค์จริง ประทับพระราชอาสน์ พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา ทรงพระแสงกระบี่ฉลองพระองค์จอมทัพ ทรงพระภูษาโจง

ต่อมาเสด็จเข้าอาคาร 1 ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของการศุลกากรในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ที่มีการกล่าวถึง “จกอบ” (อ่านว่า จะ-กอบ) หรือการจัดเก็บภาษีจากสัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการตั้ง “พระคลังสินค้า” เมื่อพุทธศักราช 2054 เป็นผู้ทำการค้าขายกับต่างประเทศและกำหนดประเภทสินค้าที่จะเข้ามาซื้อขายต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรเป็น “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” โดยมีพระคลังสินค้ารับผิดชอบจัดการเรื่องภาษีอากร จากนั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทำหน้าที่รวบรวมร้ายได้ รวมถึงวางระเบียบการรับส่งและเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นจุดกำเนิดของกรมศุลกากรในปัจจุบัน.