จากกรณีพบกระทิงป่า ‘ตาบอด’ กันจำนวนมาก ทั้งในเขตรอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และผืนป่าในเขตภาคตะวันตก โดยสาเหตุ สัตวแพทย์ เคยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การเสื่อมสภาพของจอประสาทตา เป็นภาวะความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามอายุของกระทิง 2.ปรสิต หรือพยาธิ ที่อยู่ในตัวของสัตว์ป่า ก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง ที่อาจมีผลในความเป็นไปได้ และ 3.ปัญหาสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช หรือปศุสัตว์ แต่ยังไม่มีการฟันธงแน่ชัด เนื่องจากต้องรอพิสูจน์ที่ชัดเจนอีกครั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากปัญหาพบกระทิงตาบอดจำนวนมากในหลายเขตพื้นที่ และยังไม่มีผลวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดออกมานั้น จากการเดินทางลงพื้นที่ ประกอบกับการเก็บรวบรวมหลักฐาน คาดว่าสเหตุที่กระทิงตาบอด น่าจะมาจาก แมลงวันตา หรือ อาย ฟลาย (eye fly) ที่พบแพร่กระจายทั่วไปและระบาดมากในบางพื้นที่ โดยชนิดที่พบในประเทศไทย คือ ไซปันคูลินา ฟูนิโคลา (siphunculina funicola)

แมลงวันตา ชนิด ไซปันคูลินา ฟูนิโคลา นี้ มันโหดมาก จะเข้ามารุมดูดกินน้ำเลี้ยงจากลูกนัยน์ตา ทำให้ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา และมีขี้ตามาก ติดเชื้อโรคที่ติดมากับมันด้วย พบว่าต่อมน้ำเหลืองหลังหูจะเจ็บและบวม ส่วนใหญ่เกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน และติดเชื้อลามไปอีกข้าง ทำให้เกิดตาบอดถาวรทั้งสองข้าง เกิดขึ้นได้ในกระทิงทุกเพศ ทุกช่วงอายุ โดยอาจมีปัจจัยความแข็งแรงทางร่างกายและพันธุกรรมเป็นตัวเสริม

ไม่ใช่แค่ลูกนัยน์ตา บริเวณที่มีเนื้อเยื่ออ่อนๆ เช่น จมูก อวัยวะเพศ มันก็ชอบ นอกจากนั้น มันยังดูดเลือดและน้ำเหลืองจากบาดแผล ทำให้แผลหายช้า รักษาไม่หายขาด เกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการนำเชื้อโรคต่างๆ มาสู่แผล นำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

สัตว์อื่นเป็นไหม? เป็นความกังวลอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อกระทิงเป็นแล้ว สัตว์ป่าอื่นๆ จะมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ เท่าที่สังเกตและติดตาม สรีระร่างกายและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด มีกลไกป้องกัน เช่น ช้างป่า มีใบหูขนาดใหญ่ พัดลมไล่แมลงได้ รวมถึงมีงวงที่เป็นจมูกยาวๆ เป่าลมไล่แมลงที่ตาได้

เก้ง กวาง หูจะมีขนาดใหญ่พอที่จะสะบัดลม หรือส่ายหัวไล่แมลงได้ เหมือนกันกับวัว ควาย แต่ถ้าโดนรุมจำนวนมากๆ ก็ยากที่จะไล่ออกไป ต้องหวังพึ่งพวกนกต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกำจัด

เกิดในคนได้ ทำให้เกิดโรคตาแดง และหากมันตอมบาดแผล แผลก็จะหายช้า และติดเชื้อได้ หากเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคตาแดง แล้วแมลงชนิดนี้ไปกินสารคัดหลั่งที่ลูกนัยน์ตาของคนป่วย แล้วไปเกาะกินสารคัดหลั่งจากคนอื่นๆ อีก ก็อาจจะทำให้โรคตาแดงระบาดได้

ไม่ใช่แค่นั้น ความน่ากลัวที่แท้จริง แมลงชนิดนี้ยังนำเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิด จากการศึกษาเมื่อปี 52 โดย ดร.อุรุญากร จันทร์แสง พบแบคทีเรียทั้งหมด 64 ชนิด ซึ่ง 36 ชนิดเป็นแบคทีเรียชนิดที่มีความเสี่ยงในการก่อโรคในระดับที่ 2 ตามประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งปกติแบคทีเรียก่อโรคจะมีระดับความเสี่ยงอยู่ 4 ระดับ ระดับ 4 เสี่ยงสูงสุดแล้ว ลดหลั่นลงไป แต่แบคทีเรียที่พบในแมลงชนิดนี้อยู่ในระดับที่ 2 เช่น เอนเทอโรค็อกคัส สูโดโมนาส สแต็ปโตค็อกคัส สแต็ปฟิโลค็อกคัส ผ่านมาสิบกว่าปี กับปัจจัยเรื่อง Climate change ไม่แน่ใจว่าจะพบเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นหรือพบไวรัสชนิดใหม่ๆ ด้วยหรือไม่ ตอนนี้กำลังหาคำตอบ

สำหรับเจ้าแมลงที่ว่านี้ เพิ่มจำนวนเร็วมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ฝนทิ้งช่วง นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ทำให้กระทิงตาบอด เราจะต้องทำความรู้จักเจ้าแมลงชนิดนี้ให้มากที่สุด เพื่อหาทางรับมือภายใต้สภาวะความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์ เอล นีโญ ที่ต้องจัดสมดุลต่างๆ อีกมากมาย โลกร้อน ส่งผลต่อทุกชีวิตในโลก และนี่คือเหตุการณ์หนึ่งกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิง ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ และอาจมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ขอบคุณภาพ ธวัช ประดาไทย เครือข่างช่างภาพช่วยเหลือสัตว์ป่า