จากกรณีที่เกิดเรื่องสลดใจมีเด็กหญิงวัยเพียง 2 ขวบ กินมะยมดองแล้วเม็ดมะยมเกิดติดคอเสียชีวิต ต่อมามีประเด็นดราม่าเกี่ยวกับ รพ.สต.บ้านจะกง ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ นั้น

เกี่ยวกับเรื่องกังกล่าว เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 28 ก.ค. ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นักสังคมสงเคราะห์ จ.ศรีสะเกษ ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปที่ รพ.สต.จะกง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อไปถึงพบมีเจ้าหน้าที่ 3 คน อยู่ปฏิบัติหน้าที่บริการประชาชนที่เจ็บป่วยและมีประชาชนมาเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ภายในบริเวณ รพ.สต.จะกง มีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เอาไว้ตลอดเวลา มีบ้านพักเจ้าหน้าที่ 2 หลัง อยู่ในบริเวณ รพ.สต. และมีรถ EMS.รับส่งต่อผู้ป่วยจอดอยู่เพื่อพร้อมให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ตลอดเวลา

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะกง รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นเวลาประมาณ 19.40 น.ของวันที่ 24 ก.ค. 66 มีเจ้าหน้าที่พยาบาลเข้าเวรประจำ รพ.สต.อยู่ ได้ให้การรักษาพยาบาลเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ ซึ่งพบว่า เด็กหญิงร่างกายลักษณะเป็นตัวเขียว มีเลือดออกปากและจมูก ไม่รู้สึกตัว พยาบาลเวรจึงได้ทำการดูแลเบื้องต้นอย่างเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 3 นาที โดยให้เด็กอาเจียนออก 1 ครั้ง ลักษณะเป็นของเหลวมีเลือดปน คลำชีพจรดูแลอ่อนเบามาก จึงได้แจ้งให้ญาติรีบนำตัวผู้ป่วยส่งไปยัง รพ.วังหิน ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดระยะทางประมาณ 18 กม. หากจะไปที่ รพ.ขุขันธ์ ระยะทางจะไกลกว่าประมาณ 22 กม. โดยญาติใช้รถกระบะส่งผู้ป่วยไป รพ.วังหิน ช่วยฟื้นคืนชีพแล้วส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ ต่อมาเด็กได้เสียชีวิตที่ รพ.ศรีสะเกษ ซึ่งทาง รพ.สต.จะกง มีคลิปภาพจากกล้องวงปิดยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ ไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ระบุว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด

ดร.กัลยาณี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนรู้สึกเห็นใจครอบครัวญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตและเห็นใจเจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะกง ที่ทำงานบริการประชาชนอย่างเหน็ดเหนื่อย ตนอยากทราบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือ จึงได้แวะมาถามไถ่จากเจ้าหน้าที่ที่ทำแผลให้คนไข้ และได้ทราบว่า ที่จริงแล้ว รพ.สต.จะกง มีเจ้าหน้าที่รับคนไข้และดูแลคนไข้ทันที แต่หลังจากประเมินสถานการณ์จากการรักษาใน เบื้องต้นเห็นว่า ว่าต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์เครื่องมือมากกว่านี้เพื่อจะช่วยรักษาคนไข้ได้ จึงได้แนะนำให้รีบส่ง รพ.วังหิน เพราะเส้นทางไป อ.วังหินใกล้กว่าไป รพ.ขุขันธ์ และยืนยันว่า รพ.สต.จะกง มีหลักฐานทางกล้องวงจรปิดว่า มีเจ้าหน้าที่รับคนไข้และรักษาคนไข้ ไม่ใช่ตามข่าวของทีวีบางช่องที่ได้นำเสนอไป ตนจึงได้มาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และบอกว่าจะนำความจริงไปรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชาของ รพ.สต.ได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ต่อมาเวลา 16.35 น. ที่ห้องปฏิบัติราชการ นพ.สสจ.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ ได้เปิดการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนทุกแขนงว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะกงอยู่ปฏิบัติหน้าที่และมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในรพ.สต.โดยได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเต็มที่ดูจากคลิปของกล้องวงจรปิดแล้วใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที โดยช่วงเกิดเหตุมีรถกระบะเข้ามาจอดด้านหน้า รพ.สต. จากนั้นญาติได้อุ้มเด็กเข้ามาใน รพ.สต.เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปทำการตบหลังและตบหน้าอกแต่ว่าวัตถุที่ติดคออยู่ไม่ออกมาและเด็กมีอาเจียนออกมาเป็นเลือด ซึ่งเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้สังเกตตรวจดูอาการแล้วเห็นว่า ถ้ามัวแต่ใช้เวลาในการช่วยเหลือเบื้องต้นอาจจะใช้เวลานานไป ดังนั้นจึงได้รีบนำตัวเด็กส่งต่อไปยัง รพ.วังหิน ที่อยู่ใกล้ที่สุด

นพ.ทนง กล่าวว่า กรณีนี้เมื่อเด็กถูกส่งไปถึง รพ.วังหิน จากการที่ได้สอบถามแล้วทราบว่าแพทย์ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินได้ทำการช่วยกู้ชีวิต โดยเห็นเด็กที่มาในตอนนั้นตัวเขียวหมดแล้วและไม่มีชีพจรแล้ว ก็ต้องทำการกระตุ้นหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังจะสอดท่อลงไปในหลอดลมคอพอดีใช้เครื่องส่องลงไปในหลอดลมได้พบเม็ดมะยมดองติดอยู่ที่หลอดลมตรงเหนือกล่องเสียง จึงได้ใช้ที่คีบดึงเอาเม็ดมะยมดองออกมาก็แสดงว่าเม็ดมะยมดองลงไปติดค่อนข้างลึกมาก ซึ่งใช้วิธีกระตุ้นให้เม็ดมะยมดองออกมา โดยหากใช้วิธีปกติแล้วจะไม่ได้ผล แต่ว่าหลังจากที่นำเอาเม็ดมะยมดองออกมาได้แล้วก็ได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและทำการช่วยฟื้นคืนชีพจนชีพจรกลับมา แต่เด็กอยู่ในภาวะโคม่าไม่รู้สึกตัวคือได้ชีพจรมามีหัวใจเต้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากว่าขาดอากาศหายใจไปนาน รพ.วังหิน จึงได้ส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ ซึ่งทาง รพ.ศรีสะเกษ ก็ได้ดูแลรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ในห้องผู้ป่วยวิกฤติและทราบว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตในช่วงตอนเช้าเวลาประมาณ 05.00 น.เศษของวันที่ 25 ก.ค. 66 ที่ รพ.ศรีสะเกษ

นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า รพ.สต.ทุกแห่งไม่ว่าจะอยู่สังกัดไหนก็ได้ให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการอย่างเต็มที่ แต่ก็อยู่ภายใต้ศักยภาพเท่าที่มีอยู่ในระดับนั้นๆ และเรื่องของการสื่อสาร การขอคำปรึกษาและการส่งต่อ ซึ่งในสังกัดของ สสจ.ศรีสะเกษ กระทรวงสาธารณสุขเองนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ขึ้นเวรนอกเวลาราชการ เพียงแต่ว่าเราจะขึ้นถึงประมาณ 20.00 น. หลังจากนั้นก็จะเป็นเวรตามที่ได้รับมอบหมายเพราะว่าบางครั้ง รพ.สต. อยู่ค่อนข้างไกลและเปลี่ยว บางครั้งเจ้าหน้าที่เป็นสุภาพสตรีก็จะอยู่ที่บ้านพักบางครั้งก็ต้องให้ญาติคนไข้ไปเรียกเอาที่บ้านพักที่อยู่ใกล้กัน และหากบางครั้งช่วงที่ยังไม่ดึกมากนะ ก็ยังคงนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานอยู่สามารถให้บริการได้อย่างทันที ก็ถือว่าระบบในการให้บริการนั้นยังบริการอยู่ ถ้าหลังสองทุ่มไปแล้วจริงๆ ก็จะต้องไปเรียกเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่ที่บ้านพักติดกัน ต้องเคาะประตูเรียกไม่ได้ปิดให้บริการแต่อย่างใด

จริงๆ แล้ว สถิติเด็กเล็กอมของบางอย่างและหลุดลงไปในคอ ปีหนึ่งจะมีประมาณ 300 รายต่อปีทั้งประเทศไทย ซึ่งดูจากรายงาน 1669 ที่ไปให้การช่วยเหลือช่วยรับส่งดูแล การที่หลอดลมอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอมจะต้องช่วยให้ออกโดยเร็วภายในเวลา 4 นาทีแรก ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวงนี้จะต้องยอมรับว่าผู้ปกครองเองจะต้องมีความรู้ในการช่วยเหลือฉุกเฉิน เพราะว่ามีเวลาให้การช่วยเหลือเพียง 4 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นถ้าอุดกั้นหลอดลมจนตัวเขียวแล้วถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เด็กก็จะขาดอากาศหายใจ ดังนั้นการเดินทางไปรักษาพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางแพทย์จะให้การช่วยเหลือได้ แต่ว่าขึ้นกับระยะทางและเวลาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้วย ก็ต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองทุกคนจะต้องระมัดระวังถ้ามีลูกหลานที่อยู่ในวัยนี้ วัยที่กำลังเริ่มเอาของใส่ปากในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 1 ปีและ 2 ปีขึ้นไป” นพ.ทนง กล่าว