นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 2 ประจำปี 66 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรม ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรม ดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.0 ของไตรมาสแรกและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยปัจจัยด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน และด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุน เพื่อประกอบการ ปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากแยกตามรายอุตสาหกรรม พบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 54.6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 52.1 และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.4 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลับมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ 46.8 ในไตรมาสนี้
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาพรวม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อ ภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกันนี้ นโยบายการเปิดประเทศของจีน ยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของกิจการในประเทศลดลง โดยเฉพาะราคาชิป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนปัจจัยฉุดรั้งคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลายรายชะลอแผนธุรกิจเพื่อรอดูท่าที การประกาศนโยบายของรัฐบาลใหม่
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย คาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดภาครัฐ และประเด็นสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการออกมาตรการจูงใจบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลศักยภาพสูง จากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น.