เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษา ศบค. กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์ จัดโดย ปธพ.9 และ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ว่าส่วนตัวเชื่อว่าการระบาดโรคโควิดของโลกเป็นช่วงขาขึ้น ไม่สามารถวางใจได้ โดยมีปัจจัยมาจากเชื้อกลายพันธุ์และดื้อต่อวัคซีนทุกตัว สำหรับไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงตนคิดว่าเป็นภาพลวงตาเพราะเป็นผลจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.-ส.ค. และตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่คลายล็อกจำนวนผู้ป่วยอาจสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ ศบค. ต้องคงมาตรการต่างๆ ไว้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. เพราะต้องการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้

รองประธานที่ปรึกษา ศบค.เปิดเผยว่า ศบค.ตั้งเป้าให้มีผู้ป่วยรายใหม่ วันละไม่เกิน 5,000 คน, ผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 50 คน อยากขอร้องให้ทุกคนต้องเคร่งครัดกับมาตรการดูแลป้องกันตัวเองเต็มที่ ขอให้อดทน 3-4 เดือน เมื่อเราฉีดวัคซีน ครบ 2 เข็มให้ครอบคลุมประชาชนตามเป้าหมายที่วางไว้เมื่อถึงเดือน ธ.ค. ตนเชื่อว่าเราจะมีโอกาสผ่อนคลายและได้ฉลองปีใหม่อย่างมีความสุข

ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ในการต่อสู้กับโควิด ปี 63 เราใช้วิธีล็อกดาวน์ประเทศส่วนปี 64 ใช้กลยุทธ์เร่งฉีดวัคซีน สำหรับปี 65 จะใช้กลยุทธ์การป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล บนแนวคิดของการอยู่ร่วมกันกันโควิดกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแบบวิถีใหม่ ทั้งรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพให้คนไทยได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านได้ ไปร้านอาหารได้และเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้

รองประธานที่ปรึกษา ศบค.เปิดเผยว่า สำหรับระยะสั้นช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. เราอาจเปลี่ยนจากการตรวจเชิงรุกในพื้นที่จำนวนมากๆ เป็นเมื่อมีอาการแล้วค่อยมาตรวจ เช่นเดียวกับเมื่อเป็นหวัดไม่ไปหาหมอ เฝ้าระวังด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเสี่ยง เช่นแรงงานในตลาด โรงงาน หากพบการระบาดปิดเป็นจุดๆ ทั้งปรับการล็อกดาวน์เป็นล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่ระบาด อาจเป็นระดับอำเภอหรือตำบล พัฒนาระบบการกักตัวที่บ้าน หรือชุมชน เร่งฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่มอายุ.