ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบัน (21 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 34,548 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,613 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 0.98 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.96 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนเมษายน 2567 ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้รวมกัน มีประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กรมชลประทาน จึงประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศเร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต รวมไปถึงจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งที่จะถึงนี้