เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นางระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และรูปแบบการดูแลทางสังคม กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ พบปัญหาผู้ป่วยถูกบูลลี่ตีตรา การเลือกปฏิบัติ ถูกสังคมรังเกียจ ถูกตำหนิจากคนรอบข้าง จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงได้เตรียมบุคลากร พัฒนานักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา โดยระดมจากทุกภาคส่วนทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดการอบรม 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.หลักสูตรให้คำปรึกษาเบื้องต้น 2.หลักสูตรทักษะเสริมพลังอำนาจ 3.หลักสูตรเทคนิคการใช้คำปรึกษาการปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม และ4.หลักสูตรการดูแลเด็ก เพื่อพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ให้มีทักษะ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เพื่อติดตามผู้ป่วย เป็นเครื่องมือแบบประเมินที่จะลดขั้นตอนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ และง่ายต่อการวางแผนดูแลมากขึ้น

“แพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับทุกคนในสังคม ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของรัฐได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพกับประชาชนไม่ให้ผู้ป่วยถูกทิ้งหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ ต้องพัฒนาศักยภาพปรับตัวกับการใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะพัฒนาและนำมาใช้ในการทำงานสังคมสงเคราะห์มากขึ้น”นางระพีพรรณ กล่าว

ขณะที่ พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า โครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และรูปแบบการดูแลทางสังคม เป็นการเสริมพลังให้แก่ชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแลจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด–19 ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก โดยร่วมกับทีมนักสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมทั้งหมด 11 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนทำงานในระดับชุมชน ซึ่งในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ภาคีเครือข่ายยังพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนาโซเชียลเทเลเมดิซีน (Social Telemedicine) เพื่อเป็นแฟลตฟอร์มในการดูแลทางสังคมที่เชื่อมโยงกับระบบของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ช่วยให้การรับ-ส่งต่อ การบำบัดฟื้นฟูทางสังคม และการติดตามผลด้านการดูแลทางสังคมในชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“พวกเราต้องทำงานเชิงรุก พัฒนาศักยภาพนักสังคมสงเคราะห์ และชุมชนให้สามารถวางแผนป้องกันรับมือการระบาด หรือสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายเครือข่ายในการดูแลทางสังคมไปยังวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกรชุชน รวมถึงบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำงาน คือใจที่จะช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นได้อนาคต” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว.