สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ว่า ผลการสำรวจโดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ( ยูนิเซฟ ) ประจำฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดทำเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่ามากกว่า 80% ของผู้ปกครองในประเทศแห่งนี้ กำลังวิตกกังวลว่า บุตรหลานของตัวเอง "เรียนรู้เรื่องน้อยลง" เนื่องจากยังไม่ได้กลับเข้าชั้นเรียนมานานกว่า 1 ปีแล้ว และใช่ว่าทุกครัวเรือนในฟิลิปปินส์จะสามารถมอบความสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนที่ต้องเพิ่มขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ นั่นคือ คอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต้องความเสถียร
ทั้งนี้ ประมาณสองในสามของครอบครัวซึ่งมีบุตรหลานวัยเรียน กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนภายใต้การดำเนินวิถีชีวิตใหม่ ในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ 
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ยังคงยืนกรานปฏิเสธกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติในชั้นเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เนื่องจากหวั่นเกรงว่า เด็กอาจรับเชื้อจากในโรงเรียนแล้วกลับไปแพร่ต่อให้กับผู้ปกครอง แม้ยูนิเซฟวิจารณ์ว่า ฟิลิปปินส์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลก ที่แทบไม่เคยจัดการเรียนการสอนแบบปกติ นับตั้งแต่โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่รายงานโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( โออีซีดี ) ระบุว่า เด็กในช่วงวัย 15 ปีของฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับรั้งท้ายของการประเมินทักษะการอ่าน และความรู้ความเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ด้านสมาคมจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นของฟิลิปปินส์ เตือนรัฐบาลว่า มองในอีกมุมหนึ่ง การเรียนออนไลน์เป็นการลดการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES