“เราต้องการพัฒนาอีอีซีให้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ ภารกิจของอีอีซีจะเพิ่มเติมในเรื่องเชื่อมโยงการลงทุนสู่การพัฒนา และสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำงานกับทุกภาคส่วน และเครือข่ายประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้สมดุลและยั่งยืน” จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ระบุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของอีอีซี

 “อีอีซี” ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีความจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลใหม่ เพื่อเร่งเครื่องเดินหน้าทำงานขับเคลื่อนนโยบายในส่วนต่าง ๆ ภารกิจสำคัญที่อีอีซี ได้เตรียมไว้นำเสนอ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ในระยะ 5 ปี (ปี 66-70) ครอบคลุมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในทุกมิติ เพื่อให้การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี

เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่อีอีซี ให้ความสำคัญ ซึ่งกรอบการดำเนินงานของแผนภาพรวมฯ อีอีซี กำหนดให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การเร่งดึงดูดเงินลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศรองรับการลงทุนในทุกมิติ โดยเฉพาะการเตรียมปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุมัติ อนุญาตกว่า 44 ฉบับ วางระบบการออกใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ จะต้องใช้ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดการลงทุนที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการ พร้อมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ตรงความต้องการแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ และการพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงรองรับการลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย เพื่อต่อยอดไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี จะเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) บีซีจี และบริการที่พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

รวมถึงได้เชื่อมโยงและมุ่งเน้นให้ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน 5 คลัสเตอร์หลัก ต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคม เศรษฐกิจในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมใน 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้สมดุลและยั่งยืน การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะให้เอื้อต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีสมดุล การส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาภาคเกษตรให้เข้าถึงเทคโนโลยี ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และชุมชน พัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขในพื้นที่

โดยอีอีซี มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมบีซีจี อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือโครงการลงทุนที่มีการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ (Carbon emission) หรือการดำเนินงานเพื่อปรับตัวสู่ Net zero และกิจการที่ดำเนินงานโดยยึดหลัก 3 ด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)

นอกจากนี้ ก้าวต่อไปอีอีซี พร้อมจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในเรื่องของการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะประสานงานเชิงรุกกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่โดยตรง เพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดผลกระทบจากปัญหาขยะจากภาคอุตสาหกรรม และการบรรเทาปัญหาเรื่องนํ้าเสียจากอุตสาหกรรมในพื้นที่

 “ภายใต้แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซีในอีก 5 ปีข้างหน้า และภารกิจของอีอีซีนับจากนี้ไป จะไม่เพียงทุ่มสรรพกำลังไปในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจจากการลงทุนเท่านั้น แต่จะมีการจัดทัพปรับกำลัง สร้างแนวร่วม เสริมพันธมิตร ต่อยอดการลงทุนไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ที่จะตอบโจทย์การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษให้ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงประโยชน์ด้านการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง การคมนาคมขนส่ง และภาคบริการ ไปสู่ภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดประตูบานใหญ่ให้เศรษฐกิจไทย สู่การค้าโลก และอีอีซี จะเป็นพลังสำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”.