สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ว่ามหาวิทยาลัยซุน ยัต-เซ็น หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาด้านการวิจัยสาธารณะขนาดใหญ่ของจีน ตั้งอยู่ที่เมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้ง เผยแพร่แพร่ผลการวิจัยที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิชญพิจารณ์ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก จากบุคลากรการแพทย์ในประเทศ ซึ่งได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบเชื้อตายของซิโนฟาร์มครบสองเข็ม และมีการฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม หรือบูสเตอร์ ด้วยวัคซีนแบบเดิม
ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนของซิโนฟาร์มครบสองเข็มผ่านไปประมาณ 5 เดือน ภูมิคุ้มกันสลายเชื้อไวรัสโดยเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง ลดลงประมาณ 70% เมื่อเทียบกับช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการฉีดวัคซีนครบ แต่หลังรับการฉีดวัคซีนเข็มที่สามซึ่งยังคงเป็นของซิโนฟาร์ม ปรากฏว่าระดับภูมิคุ้มกันสลายเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นประมาณ 7.2 เท่า เมื่อเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันในช่วง 5 เดือนแรกหลังการฉีดวัคซีนครบ 
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชัดเจน ว่าความเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของกลุ่มตัวอย่าง จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม ในการลดอาการป่วยรุนแรงจากเชื้อเดลตา ให้กับผู้ที่รับวัคซีน
รายงานชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมา ในช่วงที่จีนเริ่มการฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้แก่กลุ่มเประบางในประเทศ คือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน และบุคคลซึ่งประกอบอาชีพที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานสายการบิน และเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การฉีดเข็มที่สามควรเกิดขึ้นประมาณ 6 เดือน หลังบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้แก่ประชาชนทั่วไปยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
อนึ่ง วัคซีนของซิโนฟาร์มซึ่งพัฒนาจากเชื้อตาย เป็น 1 ใน 2 วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จีนใช้งานเป็นหลัก โดยอีกตัวหนึ่งคือวัคซีนของซิโนแวค พัฒนาจากเชื้อตายเช่นกัน และเมื่อต้นเดือนนี้ ซิโนแวคร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยฟู่ตัน ในเมืองเซี่ยงไฮ้ และสถาบันวิชาการชั้นนำอีกหลายแห่งในประเทศ เผยการศึกษาเบื้องต้น เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของซิโนแวค กระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนเดิมครบสองเข็มแล้ว ปรากฏว่า ระดับภูมิคุ้มกันสลายเชื้อไวรัส ที่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อไวรัสเดลตา เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่า.

เครดิตภาพ : REUTERS