จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบรวมทั้งประเทศไทยส่งผลต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ แต่ในขณะเดียวกันยังมีภาคธุรกิจส่งออกที่หลายประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ มีเพียงภาคส่งออกของประเทศไทยที่ไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกของประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนที่ผ่านมาของจังหวัดชลบุรี มีการลงทุนมหาศาลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาท่าเรือเฟสใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ EEC เป็น HUB ของการค้า การลงทุนของภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

โครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) จึงเป็นโครงการที่รัฐบาล นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออกคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านบาทสามารถป้องกันการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติรวมทั้งสามารถรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตและส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในขณะลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการและแรงงานในสถานประกอบการ ที่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งการรวมพลัง ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในครั้งนี้จะทำให้สามารถต่อสู้กับโควิด-19 ไปได้ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อจะได้เข้าถึงการเยียวยา

โครงการนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยระยะแรกมีเป้าหมายดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ในสถานประกอบการภาคการผลิต/ส่งออก ที่มีผู้ประกันตน 500 คน ขึ้นไปจำนวน 387 แห่ง ผู้ประกันตน 474,109 คน ดำเนินการภายใต้แนวคิด “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล” 1) ตรวจ คือ การตรวจคัดกรองด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Self-ATK ทุกสัปดาห์ 2) รักษา คือ จัดให้มี FAI (Factory Accommodation I solation) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของพนักงาน, Hospitel โรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยเขียว เหลือง และแดง 3) ควบคุม คือ ดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal สำหรับการป้องกันและควบคุม และ DMHTT (Distancing, Mask Wearing, Hand Washing, Testing, Thai Cha na) และ 4) ดูแล คือ ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

นับว่า “แฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์” เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาล เอกชน และประชาสังคม ร่วมมือกันป้องกันโควิด-19 รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำให้ภาคการผลิตส่งออกเติบโตรักษาระดับการจ้างงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้ต่อไป