วันที่ 23 พ.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความจำเป็นและสิ่งสำคัญของประเทศ เป็นเรื่องของ resilience ความทนทานและความยืดหยุ่น ต้องล้มได้และลุกเร็ว ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องเสถียรภาพ การมีกันชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งฐานะการเงินเอกชน ครัวเรือนและภาครัฐ การมีพื้นที่นโยบาย หรือ Policy space ทางด้านการเงินการคลัง การมีทางเลือก และสุดท้ายต้องสร้างการเติบโตแบบใหม่
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับภูมิทัศน์ด้านการเงินใหม่ ออกไฟแนนเชี่ยล แลนด์สเค็ป ที่ต้องมี 3 โอเพ่น ทั้งโอเพ่นดาต้า โอเพ่นอินฟาสตรัคเจอร์ โอเพ่นคอมเพลททิชั่น ภูมิทัศน์การเงินสร้างความสมดุล ต้องมีอินโนเวชันควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง เน้นความยืดหยุ่นในการปรับตัว มากกว่าเพียงเน้นเสถียรภาพ ต้องมีกรอบการกำกับ ไม่ใช่เข้มทุกอย่าง ต้องควบคุมตามความเสี่ยง อะไรที่มองเสี่ยงเยอะก็กำกับเยอะ อะไรไม่เยอะก็ยืดหยุ่นได้
สำหรับการดำเนินการมี 3 มิติ หรือ 3 snapshot อย่างแรกเป็นเรื่องการชำระเงิน (เพย์เมนท์) ต้องการลดต้นทุนผ่านการปรับตัวไปช่องทางดิจิทัล อย่างเรื่องจัดการธนบัตร มีตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตร ตรวจ ขนย้าย นับคัด ตรวจสภาพ จนถึงการทำลายซึ่งมีต้นทุนเงินสด 5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีต้นทุนสูงเมื่อเทียบช่องทางดิจิทัล โดยที่ผ่านมาไทยมีพร้อมเพย์มีผู้ลงทะเบียน 76 ล้านไอดี มีธุรกรรมเฉลี่ย 56 ล้านธุรกรรมต่อวัน คนใช้ 500 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา และคนใช้โมบายแบงก์กิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก
“อยากเห็นเรื่องการใช้ดิจิทัลมากขึ้น สัดส่วนการใช้เงินสดสูงมาก โดยในไทย 5 ปีที่ผ่านมาจากเดิมมีการใช้เงินสด 68% ลดลงเหลือ 56% แต่เทียบกับประเทศอื่น สิงคโปร์จาก 40% เหลือ 19% แต่ทั้งหมดเงินสดไม่ได้หายไป บทบาทเงินสดยังมีอยู่ ยังมีคนในพื้นที่ที่ห่างไกล แต่ก็ต้องลดต้นทุนเงินสด โดยการเปลี่ยนธนบัตรจากกระดาษเป็นโพลิเมอร์มีความสะอาดความทนทาน และส่งเสริมให้ใช้ระบบชำระเงินข้ามประเทศ เช่น เชื่อมเพย์นาวกับสิงคโปร์ เป็นคู่แรกของโลก ค่าโอนลดลง และโอนได้อย่างรวดเร็วจาก 1-2 วันเป็น 1-2 นาที”
ขณะที่เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน เป็นโจทย์ท้าทายค่อนข้างมาก มีทั้งภาคการเงินต้องตัดสินใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และต้องมีผลิตภัณฑ์เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์ และออกแท็กโซโนมี เป็นไม้บรรทัดว่าไปสีเขียวหรือกรีนได้จริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่ขาดอยู่คือผลิตภัณฑ์โปรแกรม ตอนนี้ธปท.กำลังคุยธนาคารพาณิชย์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ โดยเร็วๆ นี้จะแถลงรายละเอียด เช่น สินเชื่อเพื่อปรับกระบวนการใช้พลังงาน เป็นต้น
ส่วนเรื่องที่ 3 เรื่องโอเพ่นดาต้า จากเดิมต้องใช้กระดาษเวลาขอกู้ และถ้าไม่ใช่คนมีรายได้ประจำก็ลำบาก หาเอกสารแสดงรายได้ยาก แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ ทุกวันนี้ใช้บนโลกออนไลน์ ดิจิทัลฟุตพรินต์ เช่น ยื่นภาษีออนไลน์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อของออนไลน์ โจทย์คืออยากให้เจ้าของข้อมูลผู้บริโภคได้ประโยชน์เชื่อมข้อมูล ผ่านการเปิดเผยข้อมูลของเจ้าของข้อมูล ซึ่งหน้าที่ธปท.ต้องเอื้อให้สะดวกมากขึ้น สิ่งที่ต้องการคือ กฎระเบียบ มีเกณฑ์ เก็บข้อมูลในรูปแบบมีช่องให้ไปได้ และต้องมีมาตรฐานเก็บข้อมูล เป็นมาตรฐานกลาง และต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน พยายามทำให้เกิดขึ้น โดยเร็วๆ นี้จะเปิดเผยวันที่ 30 พ.ย.นี้
“ทั้ง 3 เรื่องนี้ บางเรื่องทำมาค่อนข้างดี แต่ย้ำทุกเรื่องธปท.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือหลายฝ่าย แต่ธปท.ไม่รอ ทำในส่วนของเราเต็มที่ ท้ายที่สุดพร้อมร่วมมือทุกฝ่าย อยากทำเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับ Future Ready”