เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงแนวการบริหารจัดการธุรการในโรงเรียนขนาดเล็กว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการกำชับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ทั่วประเทศให้ได้รับทราบการบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 29,000 แห่ง  และในจำนวนนี้มีนักเรียนที่เป็นศูนย์หรือไม่มีคนเรียน จำนวน 180 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เช่น ปัญหาครูไม่ครบชั้น ไม่มีผู้บริหารโรงเรียน เป็นต้น แต่เราก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและลดภาระครูด้วย

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็กไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด เพื่อบรรเทาภาระครู ซึ่งจะทำให้ครูได้มีหน้าที่หลักของการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง และไม่ทำให้นักเรียนเสียโอกาสที่จะได้เรียน เพราะไม่ใช่ครูจะต้องมาทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากการงานสอน และหากเราไม่ดำเนินการเช่นนี้นักเรียนจะถูกทอดทิ้ง เนื่องจากครูจะต้องวิ่งไปทำงานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้กระทั่งบริหารงบอาหารกลางวัน ดังนั้นต่อจากนี้ไปการจัดซื้อจัดจ้างและงานต่างๆ ด้านธุรการของโรงเรียนขนาดเล็กจะมอบให้เขตพื้นที่ดำเนินการแทน ซึ่งตนขอกำชับ ผอ.สพท.ทุกคนว่าแม้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างจะไปอยู่ที่เขตพื้นที่แล้ว แต่อย่าทำให้สังคมมองว่าเขตพื้นที่มุ่งจะรวบอำนาจ แต่ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส โดยจะต้องดำเนินการเรื่องจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบ และทำให้โรงเรียนเกิดประโยชน์ได้ของที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เมื่ออำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็กไปอยู่ที่เขตพื้นที่แล้ว ในส่วนของอัตรากำลังของเขตพื้นที่เอง ตนได้ฝากให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล (สพร.) ไปคิดรูปแบบหรือรีเซตอัตราตำแหน่งของเขตพื้นที่ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับเนื้องานเหล่านี้ด้วย

“นอกจากนี้ผมยังได้กำชับ ผอ.สพท.ถึงการจัดทำงบประมาณปี 68 ด้วยว่า จะต้องสำรวจโรงเรียนในสังกัดของตัวเอง โดยเฉพาะอาคารเรียนของโรงเรียนต่างๆ  โดยขอให้ประสานกับวิศกรหรือช่างโยธาในพื้นที่ให้เข้ามาสำรวจอาคารเรียนแต่ละแห่งว่ามีสภาพอายุการใช้งานมากน้อยแค่ไหน โดยให้เขตพื้นที่จัดลำดับความสำคัญของอาคารเรียนที่วิกฤติ เพื่อจัดทำคำของบประมาณหมวดงบซ่อมแซมอาคารสถานที่ โดยขอให้เป็นสภาพอาคารที่วิกฤติจริงๆ” รักษาการเลขาธิการ กพฐ. กล่าว