เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ม.ค. ที่ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กทม. สภาองค์กรของผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และตัวแทนประชาชนในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าว เครือข่ายภาคประชาชนคว่ำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) นำโดย นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาผู้บริโภค นายกรณ์ จาติกวณิช ตัวแทนภาคประชาชน นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชน ปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.พรรคก้าวไกล เขตคลองเตย-วัฒนา เรืออากาศเอก พินิจ สาหร่ายทอง ประธานชมรมอนุรักษ์พญาไท นายคริส โปตระนันทน์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย และเลขาฯ ชมรมอนุรักษ์พญาไท พร้อมชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง เช่น ชาวชุมชุนซอยราชครู-อารีย์สัมพันธ์, ชาวบ้านย่านสุขสวัสดิ์ เป็นต้น

นายโสภณ กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ในครั้งนี้ ขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อรูปแบบการจัดการในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ที่ได้จัดทำมาทั้งหมด รวมทั้งที่มีการจัดประชุมเสนอความคิดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 และเห็นว่า เนื้อหาในการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการพัฒนาจนเกินสมดุล และขาดเจตนารมณ์ข้อสำคัญ คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมหานคร จึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้ทบทวนแก้ไขในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และปรึกษาหารือกับประชาชนให้รอบด้าน เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยขอให้หยุดการดำเนินการในกระบวนการขั้นตอนต่อไป เพื่อมิให้เกิดความเสียหายทั้งต่องบประมาณในการจัดทำ และผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชนส่วนใหญ่ อันเป็นผลจากกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลต่อเนื่องให้ได้มาซึ่งเนื้อหาที่มิได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาที่ตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง 2. ขอให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความเห็น ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และ 3. ขอให้หน่วยงานผู้จัดทำปฏิบัติตามข้อบัญญัติ ในกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองฉบับนี้ โดยต้องมีการดีความอย่างเคร่งครัด ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ

ขณะที่ นายกรณ์ กล่าวเพิ่มว่า พี่น้องประชาชนอึดอัดกับกระบวนการในการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่าง วันนี้คนที่รับฟัง ตนเชื่อว่าได้รับความเข้าใจน้อยมาก แม้ว่าคนที่มีความรู้เรื่องผังเมืองยังเข้าใจยากในเรื่องที่มาที่ไป อีกทั้งหลายคนสะท้อนความเห็นว่า เวทีรับฟังความเห็นแต่ละครั้ง มีเวลาให้แสดงความเห็นน้อยมาก จึงควรเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นมากขึ้น

“ไม่ได้มีการถามประชาชนอย่างจริงใจว่า แบบที่เขาต้องการคืออะไร”

ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน และอดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ล้วนแต่พูดว่าต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ทำไมสีผังเมืองไม่จางลง มีแต่จะเข้มขึ้น และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ทำให้พวกเราคิดว่าเจตนารมณ์เพื่อผลประโยชน์ของนายทุนที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับข้อเสนอการขยายถนน 148 เส้นทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาคารสูง ในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่แออัดอยู่แล้ว และลดพื้นที่การซับน้ำ ส่วนเรื่อง FAR Bonus เป็นความคิดที่ผิดแต่แรก เรื่องการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก พื้นที่สีเขียว กทม. ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการ

“ผังเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นนายทุนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กทม. สามารถคลายความกังวลได้ จะเพิ่มถนนก็เพิ่มไป แต่อย่าเพิ่มสิทธิในการสร้างอาคารสูงในพื้นที่ที่จะขยายถนน ถ้ากล้าทำก็ต้องเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากกว่าที่ผ่านมา” นายกรณ์ กล่าว

ด้าน นายก้องศักดิ์ ระบุว่า วิธีการได้มาของร่างผังเมืองรวมฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้เริ่มมาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นทางภาครัฐเขียนขึ้นมาเอง แล้วมาเล่าให้ประชาชนฟังและให้ยอมรับ ที่ผ่านมาประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องยากๆ แล้ว จะมีส่วนร่วมได้อย่างไร จึงอยากให้หยุดกระบวนการนี้ และกลับไปเริ่มต้นสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงตามชุมชนใหม่อีกครั้ง ก็จะทำให้ทราบถึงความต้องการของประชาชน และนำข้อมูลเหล่านั้นที่ได้มา จัดทำผังสี ร่างผังเมืองรวมฯ ใหม่อีกครั้ง ก็จะได้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ขณะที่ ตัวแทนชาวชุมชนอารีย์สัมพันธ์ เขตพญาไท ซึ่งจะได้รับผลกระทบ หากผังเมืองรวมฯ ฉบับนี้ประกาศใช้ เนื่องจากในร่างผังเมืองรวมฯ นั้น ระบุจะมีการขยายถนนในซอยราชครู เป็น 16 เมตร ระบุว่า กระบวนการทั้งหมดไม่ได้เริ่มจากประชาชน เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับทราบเรื่องรายละเอียดในการจัดทำผังเมือง เอกสารที่นำเสนอในวันนี้ เช่น แผนโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง เส้นสีต่างๆ ที่ถูกขีดขึ้นมา สีแดง สีส้ม นั้น ไม่ได้เกิดจากความต้งการของประชาชน ความกว้างของถนนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันเพียงพอต่อชุมชนอยู่แล้ว การที่จะขยายเพิ่มเติม จะเป็นการเพิ่มความแออัด

จึงอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ในครั้งนี้ เริ่มต้นกระบวนการที่ถูกต้องอย่างแท้จริง คือเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทราบอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน รวมถึงบริบทของแต่ละชุมชน เพราะมันมีความแตกต่างของชุมชนย่อยใน กทม. ควรกลับไปเริ่มต้นตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานจากความต้องการของชุมชน ผลกระทบและการเยียวยาต่อชุมชนต่างๆ ที่จะมีการพัฒนา

“เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่การพัฒนาต้องเกิดขึ้น จากความต้องการของชุมชน”

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น ชาวชุมชนไม่เคยทราบเรื่องราวมาก่อนเลย จึงได้มีการพูดคุยกันถึงผลกระทบที่จะได้รับ ก่อนนำมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้ แต่เวลาที่ให้ก็สั้นมาก และข้อมูลการศึกษาผลกระทบ หรือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ก็ไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบเช่นกัน

ด้านนายคริส โปตระนันทน์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย และเลขาฯ ชมรมอนุรักษ์พญาไท กล่าวว่า ถนนในเขตพญาไทที่ได้รับผลกระทบ จะมี 3 เส้น แต่ภาพรวมจะเป็นเหมือนกันหมดคือ มีการขยายถนน โดยบอกว่าเป็นการลดผลกระทบเรื่องจราจร ตนเป็นผู้หนึ่งที่อาศัยในซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ข18 (16 เมตร) ตั้งแต่พระรามที่ 6 ซอย 30 ถึงพหลโยธิน 5 ระยะทาง 1.3 กม. ซึ่งมีคำถามว่า การขยายถนนให้มีความกว้าง 16 เมตรนั้น คนในชุมชนแห่งนั้นต้องการหรือไม่ เพราะหากถนนขยาย จำนวนรถก็จะเพิ่มมากขึ้น และมีการใช้ความเร็วมากขึ้น ทำให้ชาวชุมชนไม่ปลอดภัย รวมถึงหากถนนขยาย ก็จะทำให้มีคอนโดฯ ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นทันที

ที่ผ่านมาก็ไม่มีจดหมายมาถึงประชาชนแต่อย่างใด หากยืนยันจะนำร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับนี้ไปใช้ จะส่งผลกระทบต่อประชานใน กทม. ตามทะเบียนบ้านถึง 4 ล้านคน และกระทบกับประชาชนที่มาใช้ชีวิตใน กทม. อีก 10 ล้านคน ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ลงมาจัดการในเรื่องนี้ และอยากเสนอให้นำความคิดเห็นของประชาชนทุกที่มารวมกัน โดยให้สำนักงานเขตลงไปทำความเห็นกับทุกชุมชน และเราจะได้ความเห็นที่ดีกว่านี้ และเป็นผังสีที่ทุกคนยอมรับ

“ทุกคนอยากได้ผังเมืองใหม่ แต่ผังเมืองใหม่ที่ดีคืออะไร วันนี้ไม่มีคำตอบให้เรา มีแต่บอกว่าจะนำสิ่งที่ได้ในวันนี้ไปปรับ” นายคริส กล่าว.