เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวการเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ Human Security Emergency Management Center : HuSEC  ว่า ศูนย์ ศรส.ได้เริ่มปฏิบัติการคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-31 ธ.ค. 2566 ศรส. ได้รับแจ้งเหตุในทุกช่องทางรวม 24,369 กรณี ปัญหาที่พบมากสุดคือ ปัญหารายได้และความเป็นอยู่ รองลงมาคือ ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ปัญหาการใช้ความรุนแรง และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว โดย ศรส. ดำเนินการแก้ปัญหาเสร็จสิ้นกว่า 20,000 กรณี และอยู่ระหว่างกระบวนการช่วยเหลือแก้ปัญหาหรือที่ยังต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง 3,633 กรณี

นายวราวุธ กล่าวว่า ศูนย์นี้แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ของกระทรวง พม. เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานของกระทรวงในการแก้ปัญหาของประชาชน และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว แต่เมื่อรับเรื่อง แก้ปัญหาแล้วประชาชนสามารถตรวจสอบกลับได้ ผ่านระบบ E–tracking เพียงใช้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน จากนี้จะขยายการทำงานของ ศรส. ให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่มีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นศูนย์กลาง จะมีทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ศรส. จะไม่เปิดเผยรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนต่างๆ ผ่านสื่อ ซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล    

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการทำงานของ ศรส. ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน (A – R – M – O – R) ได้แก่ 1) A – Alert: แจ้งเหตุผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤติ ผ่านสายด่วน 1300 หรือ Line OA ที่ @hotline1300 และ @esshelpme หรือ เพจเฟซบุ๊ก “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” และยูทูบช่อง “HUSEC ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน” 2) R – Rapidity: เร่งรัด ส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อให้การคุ้มครองช่วยเหลือเฉพาะหน้าตลอด 24 ชั่วโมง 3) M – Management: จัดการ ศรส. คุ้มครองช่วยเหลือ หรือส่งต่อ  4) O – Oversight: ติดตามผู้ประสบปัญหาทุกกรณี ผ่านระบบ E-Tracking  และ 5) R – Raising Awareness : สร้างความตระหนักรู้ในสังคม.