1.อะไรอะไรก็ ESG (Environment Social Governance) นัก CSR บอกว่าต้องทำความเข้าใจ ESG ให้ลึกซึ้งขึ้น ไม่ใช่แค่เขียน Infographic ในรายงานประจำปี แต่ต้องอธิบายการขับเคลื่อนองค์กรให้ครบทั้ง 3 มิติ นอกจากตัวเองต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ESG ให้ลึกซึ้งแล้ว ต้องจัด Workshop ให้ฝ่ายงานต่าง ๆ เข้าใจตรงกันด้วยจะได้ขับเคลื่อนไปทิศทางเดียวกัน

2.ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เปลี่ยนไปและเรียกร้องมากขึ้น พอเริ่มงานต้นปีต้องรีบจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียให้ชัดและเริ่มพูดคุยกับแต่ละกลุ่มว่า พวกเขาคาดหวังอะไรจากองค์กร ปีที่ผ่านมาไม่พึงพอใจอะไร และชื่นชมอะไร ปีนี้ความต้องการของเขาคืออะไร การสร้างความมีส่วนร่วม (Engagement) กับผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นปี จะทำให้ทีมงานเห็นเป้าหมายร่วมชัดขึ้น

3.ใคร ๆ ก็ถามว่าทำโครงการความยั่งยืนแล้วได้ประโยชน์อย่างไร-คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ นัก CSR ต้องรีบ Reskill Upskill เรื่อง SROI (Social Return on Investment) เพื่อมาตอบโจทย์ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งคาดว่าคอร์สความรู้ เรื่องการคำนวณ SROI จะเป็นที่นิยมอย่างมากในปีนี้

4.ไม่ Low Carbon ก็ Zero Carbon จนไปถึง Net Zero เรื่องการควบคุมคาร์บอนจะเป็นเรื่องใหญ่ในทุกองค์กร ถ้าไม่มีข้อมูล ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีแผนงานลดและชดเชยคาร์บอน สินค้าและบริการอาจจะถูกกีดกันในการส่งออกไปในบางตลาด หรือถูกคิดภาษีเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Boarder Adjustment Mechanism) ในทางกลับกันถ้ามีข้อมูลที่ดี มีผลประกอบการที่ลดคาร์บอนได้ ก็สามารถหาเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าที่ส่งเสริม Net Zero ได้

5.สื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างไรให้สาธารณชนเข้าใจ คนที่ทำงานสายความยั่งยืน ส่วนใหญ่จะทำงานเก่ง แต่สื่อสารไม่เก่ง หลายคนเตรียมไปเรียนเรื่องการสื่อสารความยั่งยืนเพิ่มเติม เพราะเรื่องราวที่อยากเล่ามีศัพท์เฉพาะ และภาษาวิชาการที่ยากแก่การเข้าใจ สังเกตได้จากข่าวแจกเรื่องความยั่งยืนตลอดปีที่ผ่านมา แทบไม่มีคนอ่าน เพราะสื่อต่าง ๆ ก็นำข่าวแจกมาตัดแปะในแบบของตน มันอ่านยาก และซํ้า ๆ กันหมด ยิ่งคนสมัยใหม่ไม่ทนอ่านอะไรยาว ๆ การส่งข่าวที่เขียนมาเป็น Advertising ผู้อ่านก็จับทางได้ บางทีก็ถูกตีความว่าเป็นการฟอกเขียว ปีนี้หลายองค์กรคงต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนด้านความยั่งยืน ที่เราเรียกว่า Media for Change

6.ธรรมาภิบาลตกตํ่า ขาดความเชื่อถือ จะเรียกคืนมาอย่างไร ข่าวใหญ่ประจำปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเหตุทุจริต คอร์รัปชัน
คดโกง ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาลสีเทา จนสังคมขาดความเชื่อถือ แม้องค์กรต่าง ๆ จะโฆษณาว่า ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีธรรมาภิบาล ถ้าไม่ทำจริงก็เหมือนการฟอกขาว สังคมเกิดความระแวงแล้วทีม CSR ต้องรีบสื่อสารอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ให้เกิดความมั่นใจตลอดทั้งปี และคงต้องรีบไปคุยกับเจ้านายว่าเอาจริงหรือเปล่า

7.ถ้าขาดความร่วมมือก็ไม่เกิด Impact ทีมงานความยั่งยืนต้องรีบเรียนรู้วิธีทำงานกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อสารมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อน ๆ นัก CSR บอกว่าปีนี้จะลองออกนอก Comfort Zone ออกจากคอกในออฟฟิศ เพื่อไปทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อสร้าง Impact

8.เตรียมรับมือภัยพิบัติและเหตุที่ไม่คาดฝัน นัก CSR บอกว่าเมื่อโลกเราร้อนขึ้นเร็วมาก ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทั่วภูมิภาค เศรษฐกิจยังคงตกตํ่า เราคงจะคาดหวังโลกสวยไม่ได้เราต้องเตรียมแผนสำรอง 2 3 4 และแผนฉุกเฉินไว้เสมอ พร้อมต้องซ้อมเหตุการณ์จำลองของความเสี่ยงนั้น ๆ ให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ในภาวะวิกฤติ

9.ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถสร้างคนให้ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันและอนาคต นัก CSR จึงต้องรีบออกไปสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และอาชีวะมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี เพราะทุนมนุษย์คือความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ

10.SDG ไม่ใช่แค่ตารางสีและตัวเลข 1-17 เมื่อคุยกับนัก CSR รุ่นใหม่ ๆ หลายคนยังไม่เข้าใจลึกซึ้งเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละข้อ โดยเฉพาะข้อสำคัญที่องค์กรของแต่ละคนขับเคลื่อน ต้องรีบหาความรู้เพิ่มเติม และดูความเชื่อมโยงของแต่ละข้อที่เกี่ยวข้องกับงานความยั่งยืนขององค์กร ต้องรีบก้าวข้าม SDG ที่เป็นแค่สติกเกอร์สีที่แปะในรายงานความยั่งยืนโดยด่วน

นี่คือ 10 เรื่องที่ CSO และนัก CSR บอกผมว่า พวกเขาต้องรีบปรับตัวเพื่อเตรียมรับปีมังกรดุปีนี้ครับ ขอให้สนุกกับความท้าทายใหม่ ๆ และร่วมมือกันเพื่อโลกที่ยั่งยืน.