นิสิต พ. : คุณอาหมอคะ วันก่อนได้ฟังคุณอาหมอบอกว่า ความผิดพลาดอันใหญ่หลวงคือ “เรามักคิดว่าการพิทักษ์โลกเป็นหน้าที่ของคนอื่น หรือรอ Super Hero” หนูอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนรักษ์โลก ไม่ทำร้ายอนาคต แต่มันยากมาก “เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา” หนูควรทำอย่างไรดีคะ
คุณหมอมาร์ค : น้อง พ. คะ จดหมายฉบับนี้มาถึงมือหมอตอนหมอปีนเขาอยู่พอดี หมอก็เพิ่งได้เรียนรู้เดี๋ยวนี้เองว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรักษ์โลก มันถึงยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ขั้นแรก “ช่วงตีนเขา” ปกติผู้คน 3 ใน 4 พอมาถึงตีนเขา มองขึ้นไปก็ไม่สู้ ไม่กล้า ล้มเลิกความคิดไป ส่วนอีก 1 ใน 4 ที่มีใจรักแท้ มักตัดสินใจลุยขึ้นเขาไปต่อ ความสำเร็จของขั้นตีนเขาคือ “การเตรียมตัว” เรียนรู้เส้นทาง เตรียมอุปกรณ์การปีนเขาที่ถูกต้อง ชุดที่รัดกุม รองเท้ากันลื่น ไม้เท้าคํ้ายัน และเป้ใส่สัมภาระที่จำเป็นเช่นอาหารและนํ้าดื่ม และที่สำคัญคือการฝึกซ้อมร่างกาย ขั้นที่สอง “ช่วงกลางเขา” จะขึ้นอยู่กับ “การปรับตัว” ตอนนี้จากเนินเขาที่ลาดชันน้อย จะเข้าสู่เขาที่ชันมาก ต้องปีนหินหน้าผา เรามักจะหงุดหงิดอยากปรับเส้นทางให้เข้ากับการเดินปกติของเราในทางเรียบ แต่ความจริงนักปีนเขาจะชนะธรรมชาติได้ต้องปรับตัว ปรับการวางเท้า ปรับศูนย์ถ่วงการเคลื่อนไหวไปตามการปีนหินไปทีละก้าว ที่มีมุมเอียง และระยะก้าวไม่เคยเท่ากันเลย ผู้ที่ปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับอุปสรรคต่าง ๆ ได้ จะสามารถผ่านด่านกลางเขาไปได้ ขั้นสุดท้าย “ช่วงยอดเขา” ช่วงนี้จะยากสุด และเป็นช่วงที่เราหมดแรงพอดี “ความเพียรและมุ่งมั่น” เท่านั้น จะช่วยให้เราปีนสู่ยอดเขาได้ ช่วงนี้ใช้ใจล้วน ๆ ต้องรู้ตัว ไม่ถอดใจ ผู้ที่ผ่าน The Last Mile ไปได้ จะพิชิตยอดเขาดังใจ เหมือนการพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG
แต่น้อง พ. คะ สิ่งที่หมอมาร์คเรียนรู้จากการปีนเขาก็คือ ข้อ 1.ความงดงามไม่ได้อยู่เพียงยอดเขา ถ้าเราสังเกตให้ดี มีสิ่งสวยงามมากมายระหว่างการเดินทาง แค่ตัดสินใจเดินเก้าวแรก ก็จะพบประสบการณ์ใหม่ ไม่ว่าจะสำเร็จ หรือล้มเหลว ก็จะเป็นความทรงจำที่งดงาม ข้อ 2.การเข็นครกลงภูเขายากกว่าเข็นขึ้นมาก นะคะ เตรียมแรงตอนขาลงไว้ด้วย
นิสิต พ. : ขอบคุณมากนะคะคุณอาหมอ แค่คำเปรียบเปรยคุณอาหมอไม่ต้องไปปีนเขาเพื่อมาตอบก็ได้ค่ะ แต่จากคำแนะนำของคุณอาหมอ หนูสรุปได้ว่า หนูต้องเตรียมตัว ปรับตัว และรู้ตัว เมื่อคิดจะรักษ์โลกก็ต้องอดทน และมีความเพียรเพื่อวาเลนไทน์ที่ยั่งยืน.