การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติไม่เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ แบงก์ชาติได้เปิดผลสรุปรายงานนโยบายการเงินไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. โดยมีใจความสำคัญที่น่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นมุมมอง กนง. ถึงเรื่องการผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV

คณะกรรมการฯ กนง. ประเมินว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของไทยในปัจจุบัน มีความเหมาะสม โดยเห็นว่าข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จากองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ผ่านกระทรวงการคลัง อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น

เนื่องจาก 1.เกณฑ์ LTV ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจากข้อมูลพบว่าเกือบ 90% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV และสามารถได้รับวงเงินกู้ที่ 100% อยู่แล้ว นอกจากนี้ เกณฑ์ LTV ปัจจุบันของไทยที่ 90-100% สำหรับสัญญาแรกมีความผ่อนปรนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ เกณฑ์ LTV ของเกาหลีใต้ อยู่ที่ 50-70%, สิงคโปร์ อยู่ที่ 75% และนิวซีแลนด์ อยู่ที่ 80%

2.ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังสามารถเติบโตได้ โดยยอดขายยังเพิ่มขึ้นสะท้อนจากจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ ในขณะที่อุปทานฟื้นตัวสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนมุมมองการขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

3.การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เพิ่มเติมอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยบางกลุ่มปรับสูงขึ้น ผู้กู้บางรายอาจก่อหนี้เกินตัว อีกทั้งกระบวนการลดหนี้ (deleveraging) ที่เริ่มมีความคืบหน้าไปบ้าง อาจถูกกระทบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ได้ระบุถึงการผ่อนเกณฑ์ LTV ของสินเชื่อบ้าน ว่า ที่ผ่านมาได้ขอให้ ธปท. ทบทวนมาตรการดังกล่าว แต่ยังไร้การตอบรับในเรื่องนี้ ขณะที่ทางด้านกระทรวงการคลัง ที่ทำมาตลอดคือ มาตรการด้านภาษี การช่วยค่าธรรมเนียม การโอน การจดจำนอง จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนจะพิจารณาขยายต่อไปอีกได้หรือไม่ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงสิ้นปี

“เรื่อง LTV ก็ขออ้อนวอน ธปท. ไปหลายรอบแล้ว ไม่รู้จะใจอ่อนเมื่อไหร่ ซึ่งหากใจอ่อนเมื่อไหร่ มองว่าจะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ได้” นายกฤษฎา กล่าว