แถมยังมีบทบาทในเป็นการส่วนตัว และต่อพรรคเพื่อไทยส่วนจะเป็นชื่อ “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วัย 75 ปี ตามที่มีการโยนหินถามทางกันออกมานานแรมเดือนหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันชัด ๆ ต่อไป แต่ในเวลานี้… สังคมรับรู้และเชื่อกันไปแล้วว่าไม่ผิดเพี้ยนแน่นอน แต่สุดท้ายอะไรก็เกิดขึ้นได้ ณ เวลานี้คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะพลิกโผหรือไม่? ก็เท่านั้น

ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจหนีความจริงได้ว่า กระทรวงการคลัง เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไม่น้อยทีเดียว ขณะที่นายกฯ เศรษฐา ที่ควบตำแหน่งขุนคลัง ก็มีภารกิจในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” รัดตัว จนทำให้การทำงานในฐานะ “ขุนคลัง” มีอย่างจำกัดจำเขี่ย เหมือนทำงาน “พาร์ตไทม์” โดยสถิติเข้ากระทรวงการคลังเพียง 5 ครั้งเท่านั้น  ดังนั้นการปรับ ครม.ในรอบนี้ จึงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด เพราะ…สารพัดงาน สารพัดปัญหา สารพัดเผือกร้อน รออยู่มากมาย

ปมแหล่งเงินดิจิทัลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่แม้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เศรษฐา เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักการไปแล้วก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่ในความจริง ยังมีเรื่องวุ่นให้ตามอีกไม่น้อย โดยเฉพาะที่มา…ของแหล่งเงิน 5 แสนล้าน ที่กระจายจาก 3 แหล่ง จะเป็นไปตามที่วางแผนหรือไม่? โดยจากเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะผ่าน ครม.ไปแล้ว หรือผ่านกระบวนการจัดทำงบประมาณในสภาตามปกติ

ส่วนที่ต้องติดตามใกล้ชิดกันต่อไป คือในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ที่จะสามารถเขย่า สามารถเกลี่ยให้ลงตัวได้อย่างไร แม้ว่าจะเหลือเวลาในการใช้งบฯเพียง 5 เดือนก็ตาม รวมไปถึง การล้วงกระเป๋าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาเป็นเครื่องมือจะทำได้จริงเพียงใด เพราะทุกวันนี้…ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลัง…จับตา!!

เพราะถึงวันนี้มีเสียงคัดค้านออกมาอย่างมาก ทั้งจากส่วนสหภาพแรงงานของ ธ.ก.ส. นักวิชาการ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่คนในแบงก์ ธ.ก.ส.เอง ก็ไม่อยากเข้าไปพัวพัน!! ดังนั้น ขุนคลังคนใหม่ ต้องเข้ามาสะสางเรื่องนี้ให้ดี โดยเฉพาะข้อกฎหมายของ ธ.ก.ส.ว่า เปิดทางให้รัฐบาลเอาเงินจาก ธ.ก.ส.ไปแจกดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่? 

สังคมกังขาเงิน ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ในมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ให้ ธ.ก.ส.ต้องดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งข้อนี้จะต้องตีความให้ดีว่าทำได้หรือไม่ เพราะหากมั่วซั่วมีหวังติดคุกติดตะรางเป็นทิวแถว

หรือ…ในกรณีหากตีความออกมาแล้วว่าทำได้จริง!! เงินของ ธ.ก.ส.ที่เตรียมใช้กว่า 1.72 แสนล้านบาท ต้องนำไปแจกให้ “เกษตรกร” เท่านั้น ไปแจกให้อาชีพอื่นไม่ได้ โดยวงเงินกว่า 1.72 แสนล้านบาทนี้ หากนำไปหารคนละ 10,000 บาท เท่ากับประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งน่าคิดว่าประเทศไทยมีเกษตรกรที่มากถึง 17 ล้านคนจริงหรือเปล่า เพราะอย่างตอนทำโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิดซึ่งถือเป็นเกษตรกลุ่มใหญ่ มีขึ้นทะเบียนเพียง 8 ล้านคนเศษ ๆ เท่านั้น จึงเป็นกลายเป็นการบ้านให้ขุนคลังคนใหม่ ต้องขบคิดให้ดี!!

จับตารายละเอียดแจกเงิน

นี่!! ยังไม่นับรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การเปิดลงทะเบียน การวางเงื่อนไขกติกาการใช้จ่าย การรับสมัครร้านค้ารายย่อย การใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งในความจริงแม้คลังไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่ถือเป็นศูนย์กลางในการประสานดูแลภาพรวมของโครงการต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนออกมาใช้ได้จริง ที่สำคัญต้องเป็นประโยชน์ คุ้มค่ากับเงินที่ใส่ลงไปให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น… เมื่อถึงเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ รับรองโดนฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น ไล่ถล่มเช็กบิลแน่นอน

จัดเก็บรายได้หลุดเป้า

ประเด็นต่อมาที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน คือ.. การหารายได้เข้าคลัง เพราะเมื่อรัฐบาลชุดนี้ใช้เงินเก่ง โดยเฉพาะใช้เงินดิจิทัล 5 แสนล้าน กระทรวงการคลัง จำเป็นต้องรายได้ให้เก่ง เก็บรายได้ให้ได้เกินเป้าหมายด้วย แต่ที่ผ่านมากลับพบริ้วรอยของปัญหา โดยเฉพาะยอดจัดเก็บรายได้ช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 การจัดเก็บรายได้หลุดเป้าหมายไปกว่า 25,000 ล้านบาท โดยจัดเก็บรายได้สุทธิเพียง 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ  2.5%

สาเหตุหลัก ๆ มาจาก กรมสรรพสามิต ที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก เพราะต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินมาตลอด 5 เดือน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณ ที่สำคัญ ล่าสุด ยังมีโจทย์อุดหนุนภาษีดีเซลที่เพิ่งครบกำหนดไปเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งต้องดูว่าจะถูกกดดันให้ลดภาษีต่อไปอีกหรือไม่? เพราะยิ่งต้องลดภาษีนานเท่าใด ก็ยิ่งถ่างช่องว่างรายได้ให้ติดลบเพิ่มขึ้นเท่านั้น !! ดังนั้นจึงเป็นการพิสูจน์ฝีมือขุนคลังคนใหม่ จะหยุดเลือดไหลจากการลดภาษีได้อย่างไร หรือจะงัดไม้ตายอะไรใหม่ ๆ ออกมาเพื่อจัดเก็บรายได้ให้เข้าเป้าหมาย หรืออาจต้องไปพึ่งธุรกิจสีเทา ดึงขึ้นมาบนดินเพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

ปฏิรูปภาษียังติดหล่ม

จะว่าไป ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานี้ที่เป็นแบบสาละวันเตี้ยลง หลายหน่วยงานหั่นจีดีพีปี 67 ของไทยลงต่อเนื่อง ทั้งคลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ หรือที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งปรับลดเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงจาก 4.4% เหลือเพียง 2.7% เท่านั้น ด้วยภาวะเช่นนี้จึงเหมือนปิดตายประตูรีดภาษี และเป็นไปได้ยากที่กระทรวงการคลังจะมีภาษีชนิดใหม่ออกมาใช้รีดจากประชาชน ภาคธุรกิจ ดีไม่ดี…รัฐบาลอาจต้องยอมเฉือนเนื้อ ลดภาษีช่วยเหลือประชาชน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยซ้ำ เหมือนอย่างที่ผ่านมา ที่เพิ่งออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าโอน จดจำนองบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท เหลือ 0.01% แถมเปิดให้นำค่าสร้างบ้านมาลดหย่อนภาษีได้อีก 1 แสนบาทซึ่งกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. ไปหลายพันล้านบาท

เช่นเดียวกับแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่กระทรวงการคลังได้จัดทำไว้ ด้วยการรื้อ ออกภาษีใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บจากของเดิม เพื่อหารายได้เข้าคลังเพิ่มเติม นำไปสู่การลดงบประมาณขาดดุล และสร้างงบประมาณสมดุลในระยะยาว…ก็คงทำได้ยากในช่วงนี้ น่าจะอยู่แค่บนเอกสารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีลาภลอยจากคนที่ได้ประโยชน์จากการทำรถไฟฟ้า ตัดทางด่วนภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างคาร์บอนแท็กซ์ หรือ ภาษีสุขภาพ

ประสานรอยร้าวคลัง-ธปท.

ขณะที่เรื่องที่สำคัญที่สุด อย่าง การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับคืน โดยเฉพาะการไม่สอดประสานระหว่างนโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง โดยนายกฯ เศรษฐา ก็เปิดศึกหม้อไฟเกาเหลาชามโตกับผู้ว่าแบงก์ชาติอยู่หลายรอบ จนทำให้บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกดดันให้ลดดอกเบี้ย การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงการไม่ผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี ซึ่งทั้งหมดแบงก์ชาติกับคลัง เดินสวนทางกันตลอด แถมยังขัดแย้งรุนแรงมากสุดในรอบหลายปี จากนี้…จึงต้องดูท่าทีของขุนคลังคนใหม่ จะมาเป็นกาวใจ ประสานรอยร้าวระหว่างคลังกับแบงก์ชาติ ให้กลับมาเล่นดนตรีคีย์เดียวกันได้หรือไม่? ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาก ตัวเลขการลงทุน-การบริโภคภาคเอกชนที่ซบเซา หรือปัญหาธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ เพราะกำลังกัดกินเศรษฐกิจ

เหล่านี้…เป็นเพียงปัญหาเบื้องต้นที่รอขุนคลังคนใหม่เข้ามาสะสางอย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากมี “ตัวจริง” เข้ามาบริหารอย่างเต็มที่ ก็เชื่อว่า “แสงสว่าง” ก็อยู่ไม่ไกล!!

ขอผู้เชี่ยวชาญรอบทิศ
แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย บอกว่า การปรับ ครม. มีความสำคัญต่อภารกิจงานที่ต้องต่อเนื่อง เน้นการขับเคลื่อนเชิงรุก โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่ต้องมีผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานภาครัฐ และเอกชน เข้ามาสานงานต่อ และออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนากำลังคนควบคู่กันไปด้วยทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน มีรูปแบบการกระจายรายได้ลงในเศรษฐกิจฐานรากแต่ละท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น และมีมาตรการสร้างกลไกในการส่งเสริมการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ต้องมีมาตรการจูงใจในการนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่ส่งเสริมขยายจีดีพีเอสเอ็มอีให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่การกำกับสถาบันการเงินต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน คำนึงถึงความเดือดร้อนของเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีมีความหวังกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้มีกระแสข่าวรัฐบาลจะปรับครม.ใหม่ เอสเอ็มอีอยากให้เร่งมือขับเคลื่อนนโยบายที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้มีผลโดยเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนเอสเอ็มอี แรงงาน เกษตรกร และประชาชนในการประกอบอาชีพท่ามกลางต้นทุนที่ถาโถมรอบด้าน

ต้องวางคนให้ตรงงาน
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ตลาดดอทคอม มองว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลปรับครม.ใหม่โดยที่ผ่านมาให้คะแนนการทำงานรัฐบาล 50 คะแนน จาก 100 คะแนน เพราะมีหลายเรื่องที่เป็นนโยบายแต่ยังทำไม่ได้ มองว่าที่ผ่านมามีการวางคนเป็นรัฐมนตรีไม่เหมาะกับงานของกระทรวง เห็นจากการอภิปรายในสภา รัฐมนตรีบางกระทรวงตอบงานที่ตัวเองรับผิดชอบไม่ได้ หากปรับครม.จำเป็นต้องวางคนที่เชี่ยวชาญกับงานของกระทรวงนั้น ๆ

ในส่วนของกระแสข่าวที่นายพิชัย ชุณหวชิร จะมารับตำแหน่ง รมว.คลังนั้น อยากฝากให้ดูเรื่องการยกเลิกเว้นการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จากจีน ที่มีข่าวว่าจะยกเลิก แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าจากไทย สินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยจำนวนมาก และต้องดูเรื่องขาดดุลดิจิทัล นำเรื่องซื้อขายสินค้าดิจิทัลมารวมในการคิดเรื่องดุลการค้าด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยซื้อสินค้าและบริการทางดิจิทัลจำนวนมาก นอกจากนี้ในส่วนของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ควรให้ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ๆ ได้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้การแจกเงินครั้งนี้ ช่วยยกระดับเรื่องดิจิทัลของประเทศเหมือนครั้งก่อน ที่มีการใช้คิวอาร์โค้ด ในการชำระเงินอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

เปลี่ยนตัวนโยบายไม่เปลี่ยน
อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เห็นว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงรมว.คลังคนใหม่นั้น ต้องดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการคลังหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะนโยบายหลักมาจากพรรคเพื่อไทย เช่น เงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทุกวันนี้มีการเดินหน้าและคืบหน้าไปมาก ซึ่งการเปลี่ยนตัว รมว.คลัง ไม่ได้ทำให้นโยบายเปลี่ยนอย่างมีนัย แต่มองว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรให้เพิ่มความเชื่อมั่น และนโยบายขับเคลื่อนในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตช้า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไร ลดค่าครองชีพอย่างไร และเสริมสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นความหวัง และเป็นเรื่องต้องติดตามในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะเป็นช่วงที่มีเงินจากงบประมาณ 67 ที่ผ่านการพิจารณาและเตรียมนำมาใช้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องของนโยบายการแจกเงินดิจิทัล เชื่อว่ายังเกิดขึ้นได้ และต้องดูวิธี รวมถึงงบประมาณที่ใช้ในปี 67, ปีงบ 68 และแหล่งเงินอื่นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีความโปร่งใส  เพราะได้รับการตรวจสอบจากสภา แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัลครั้งนี้ อาจไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือให้มีเงินหมุนมากนัก เนื่องจากไม่ได้เป็นเงินแหล่งใหม่ โดยต้องติดตามว่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้อย่างไร เพราะปกติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อเป็นมาตรการแค่ระยะสั้นเท่านั้น

หนุนคนใหม่เชี่ยว ศก.
สมชาย พรรัตนเจริญ” อดีตนายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย ระบุว่า ได้ตามติดสถานการณ์การปรับคณะรัฐมนตรีอยู่เช่นกัน เพราะเห็นว่าการทำงานคณะรัฐมนตรีที่อยู่มา 7-8 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลงานอะไรเกิดขึ้น จึงสมควรที่ต้องปรับ ต้องเปลี่ยนแปลงใช้ทีมชุดใหม่ที่มีความเหมาะสมโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ให้เข้ามาบริหารจัดการต่อ ขณะเดียวกันจากกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงตัวรมว.คลังคนใหม่ จากเดิมที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่งรมว.คลังอยู่ด้วยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะรายชื่อที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นบุคคลที่มีฝีไม้ลายมือดี และยังมีความเข้าใจเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดีอีกด้วย 

ทั้งนี้สิ่งสำคัญของคนที่จะมาคุมเศรษฐกิจประเทศ ต้องเข้าใจเศรษฐกิจเป็นอย่างดี และจะต้องทำให้คนไทยหรือคนรากหญ้าที่ทำธุรกิจลำบากฟื้นจากการเป็นคนป่วย จากเดิมที่เคยให้สู้ตามยถากรรมและไม่ได้มีการส่งเสริมพัฒนาจริง นอกจากนี้ทุกครั้งที่รัฐบาลมองโครงสร้างใหญ่หรือเอกชนรายใหญ่ ก็อยากให้มองว่ารากฝอย รากแขนง หรือรายเล็ก ๆ บ้าง เช่น มองเรื่อง บีโอไอ ในเรื่องของการให้สิทธิทางภาษี, การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีมากถึง 20 ล้านคน ไม่ต้องยุ่งยากทางบัญชี โดยกำหนดเป็นกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อดึงดูดให้บุคคลเหล่านั้นกล้าในการเข้ามาทำธุรกิจส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ทีมเศรษฐกิจ