นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกของไทยในเดือนม.ค.67 มีมูลค่า 22,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 784,580 ล้านบาท ขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 19 เดือน การนำเข้ามีมูลค่า 25,407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 890,687 ล้านบาท ขยายตัว 2.6% ขาดดุลการค้า 2,757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 106,107 ล้านบาท

“การส่งออกของไทยที่ขยายตัว สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง”

ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 9.2% พลิกกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 14%  และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.8% ต่อเนื่อง 5 เดือนติด อาทิ ข้าวขยายตัว 45.9% โต 7 เดือนติด ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 5% ยางพารา ขยายตัว 5.5% ผลไม้สด แช่เย็น ขยายตัว 30.1% อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัว 5.2 % อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 9.1% ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลบ 27% น้ำตาลทราย ลบ 16.2%  

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 10.3% อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ขยายตัว 32.2% เหล็ก และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 106.3% ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 3.7% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 21.5% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัว 7.6% ขณะที่สินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ หดตัว 4.7% เคมีภัณฑ์ หดตัว 1.6% เครื่องปรับอากาศหดตัว 10.5%

นายกีรติ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 67 ยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้ง ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวนจากทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดัน โดยการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 67 ยังตั้งเป้าไว้ที่ 1-2% ต่อไป

สำหรับภาพรวมการส่งออกในเดือนแรกของปีไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ พบว่า ตลาดหลักยังขยายตัว 10.5% โดยขยายตัวในทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐ 13.7%  จีน 2.1% ญี่ปุ่น 1% สหภาพยุโรป 4.5% อาเซียน 18.1% ตลาดรอง ขยายตัว 8.8% อาทิ เอเชียใต้  0.04% ทวีปออสเตรเลีย 27.2%  ตะวันออกกลาง 2.9%  และรัสเซีย 64.6%  ขณะที่ตลาดหดตัวใน แอฟริกา 24.2% ลาตินอเมริกา 4% สหราชอาณาจักรลบ 1.6%