เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 85 โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียน พบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 146,661 ราย มูลหนี้รวม 10,616.621 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 121,799 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 24,862 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 118,015 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,213 ราย เจ้าหนี้ 8,527 ราย มูลหนี้ 952.077 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,917 ราย เจ้าหนี้ 5,632 ราย มูลหนี้ 405.967 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,415 ราย เจ้าหนี้ 4,409 ราย มูลหนี้ 357.715 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 5,099 ราย เจ้าหนี้ 4,221 ราย มูลหนี้ 446.702 ล้านบาท 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 4,069 ราย เจ้าหนี้ 2,990 ราย มูลหนี้ 378.035 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 243 ราย เจ้าหนี้ 244 ราย มูลหนี้ 14.844 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 350 ราย เจ้าหนี้ 270 ราย มูลหนี้ 24.108 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 391 ราย เจ้าหนี้ 303 ราย มูลหนี้ 15.308 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 466 ราย เจ้าหนี้ 349 ราย มูลหนี้ 20.679 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 472 ราย เจ้าหนี้ 382 ราย มูลหนี้ 26.890 ล้านบาท

“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 26,865 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 16,963 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,439.581 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,693.671 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 745.910 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,332 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 477 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 283.428 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 49.957 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 233.470 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 288 คดี ใน 40 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเปรียบเสมือน “ทาสยุคใหม่” เพราะคนที่เป็นหนี้นอกระบบต้องเผชิญกับการเก็บดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรากฏเป็นข่าวที่น่าสลดหดหู่ เพราะมีลูกหนี้นอกระบบที่เป็นหนี้เพียง 400 บาท แต่ก็ถูกยิงจนเสียชีวิต รัฐบาลจึงยกระดับความเข้มข้นให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นวาระแห่งชาติ และได้มีนโยบายในการจะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยการเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ที่ได้ Kick Off เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รวมถึงสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร บูรณาการกับทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันในการดำเนินการนำเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง

“การลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญและได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของเรื่องนี้มาโดยตลอด ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ ซึ่งการที่พี่น้องประชาชนจะมาลงทะเบียนนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เพราะปัญหาหนี้นอกระบบไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้ง 100% แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและการตกลงกันทั้งสองฝ่าย เช่น การยืมแบบฉันมิตร ญาติพี่น้อง แบบครอบครัว ทั้งนี้ แม้การลงทะเบียนจะเปิดให้บริการถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ แต่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเราไม่ได้ทำเพียงถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่เราจะปิดรับลงทะเบียนเพื่อนำผู้ที่ลงทะเบียนไปเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงให้การส่งเสริมด้านการประกอบอาชีพ โดยมีเป้าหมายจะทำให้ครบ 100% ของผู้ที่มาลงทะเบียน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผู้มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบ เราสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่ปล่อยเงินกู้แบบมืออาชีพ ทำให้ลูกหนี้ไม่ทราบชื่อหรือไม่มีข้อมูลของเจ้าหนี้ มีการปล่อยเงินกู้ตามตลาดหรือสถานที่สาธารณะ โดยแบ่งการดูแลตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งข้อมูลรายชื่อเจ้าหนี้นอกระบบแล้วกว่า 50,000 ราย ให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนขยายผลหาแหล่งข้อมูลเพื่อนำเจ้าหนี้นอกระบบมาดำเนินคดี โดยเฉพาะกรณีที่ผู้มาลงทะเบียนได้ระบุถึงพฤติการณ์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ที่มีลักษณะการทวงหนี้ที่มีความรุนแรง อาทิ การทำลายข้าวของลูกหนี้ การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ในส่วนของกลุ่มที่ 2 คือข้อมูลเจ้าหนี้นอกระบบที่ครบและสามารถติดต่อได้ ซึ่งเราได้ดำเนินการเชิญมาเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยนั่งโต๊ะเจรจาร่วมกัน มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่พนักงานจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อมาให้ความช่วยเหลือในทุกรูปแบบ ในส่วนของการไกล่เกลี่ยที่ไม่สำเร็จ อันเนื่องจากเจ้าหนี้นอกระบบไม่ตกลงยินยอม เราดำเนินการตามแนวทางกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำและกำชับกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% ในส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ก็ให้ดำเนินคดีเพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

“กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้ทุกอำเภอทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผ่านศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จแบบ “One Stop Service” รวมถึงการนำเจ้าลูกหนี้นอกระบบมาเข้าสู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” นอกจากไกล่เกลี่ย ให้คำปรึกษาด้านการเงินแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมในการพัฒนาอาชีพทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนทั้งที่เป็นหนี้และไม่เป็นหนี้ ซึ่งในระยะสั้นมีการจัดหาแหล่งเงินทุนเงินกู้ในระบบ แนวทางการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมให้ลดรายจ่าย รวมถึงการพึ่งพาตนเอง เพื่อทำให้อาชีพมีความมั่นคงและมีรายได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงในระยะยาวตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าทางการเกษตร ในส่วนนโยบายภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชน ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการช่วยทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในเรื่องการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบครั้งล่าสุดที่ได้มีการหารือในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่าย โดยมีดอกเบี้ยต่ำ พิจารณาและประเมินจากความรับผิดชอบในการชำระหนี้ ซึ่งก็จะเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชน เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดหนี้เสียต่ำ ไม่ถึงร้อยละ 10 และแสดงให้เห็นว่าแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 6 วันที่พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ อย่างไรก็ตามภาครัฐมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนที่เป็นหนี้นอกระบบ ได้มาลงทะเบียนให้ข้อมูลกับทางหน่วยงานภาครัฐ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง On-site ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง