หากพูดถึง “นักสืบ” และ ”สายลับ” หลายๆ คนก็คงจะรู้จักบทบาทหน้าที่ของคนกลุ่มนี้กันดี เห็นได้ในหนัง ที่ต้องคอยปลอมตัว เพื่อทำหน้าที่สืบสวน หาข่าว หรือโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ให้กับองค์กรที่ได้ทำงานให้!?!

แต่หากพูดถึง โลกดิจิทัล” หรือ “วงการไอที” ก็มีการติดตาม สะกดรอย สอดแนม เพื่อล้วงข้อมูลเช่นกัน โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว!?! ด้วยการติดตั้ง สตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware)

สตอล์กเกอร์แวร์ คืออะไร? วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” จะมาอธิบายให้ได้รู้กัน!!

สตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการติดตามผู้ใช้งาน หรือใช้เป็นสปายแวร์ ติดตั้งในอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น

ภาพ pixabay.com

โดยมีจุดประสงค์ใช้ในการสอดส่องข้อมูลการใช้งานของอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้าถึงตำแหน่งการใช้งาน รูปภาพ วิดีโอ ข้อความสนทนา ในเครื่องหรืออุปกรณ์ที่เราใช้งาน!?!

สตอล์กเกอร์แวร์ จะถูกติดตั้งโดยที่เจ้าของ ดีไวซ์ หรือ อุปกรณ์ไม่รู้ตัว และคอยติดตามสืบควาามเคลื่อนไหวต่างๆ เรียกง่ายๆ ก็คือ “สายลับในโทรศัพท์มือถือ”

หากถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี ใช้คุกคามออนไลน์ ก็ถือเป็นการล่วงล้ำก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว จะส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ทำให้ข้อมูลนั้นตกอยู่ในความเสี่ยง ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจุบัน ไทยมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ แล้ว

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ สตอล์กเกอร์แวร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกัน เป็น สามี ภรรยา คู่รัก คนรู้จัก บุตรหลาน เพื่อใช้ติดตามพฤติกรรม รวมถึงบางกรณีมีการใช้ในการติดตามพนักงานในองค์กร!?!

ทั้งนี้หากมองในส่วนของระบบปฏิบัติการนั้น ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ของกูเกิล มีความเสี่ยงที่จะถูกติดตั้ง สตอล์กเกอร์แวร์ ได้ง่ายกว่า ระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล เนื่องจาก แอนดรอยด์ เป็นระบบเปิด การลงแอปพิลเคชันต่างๆ ได้ง่ายกว่า มีการเปิดให้นักพัฒนานำแอปขึ้นสโตร์ได้ หากแอปมีปัญหา มีคนแจ้งเข้าไป จึงค่อยถอดออกจากสโตร์ และยังสามารถดาวน์โหลดแอปที่อยู่นอก เพลย์ สโตร์

ภาพ pixabay.com

แต่ ไอโอเอส จะมีการตรวจสอบเข้มมาก ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย แอปพลิเคชันของผู้พัฒนาต่างๆ ก่อนที่จะขึ้นไปบน แอปสโตร์ ให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลด จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด และปิดล็อกห้ามดาวน์โหลด แอปที่อยู่นอก แอป สโตร์

หากจะลงแอป หรือโปรแกรมเถื่อนอะไร ที่อยู่นอก แอปสโตร์ ต้องไป เจลเบรกเครื่องก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าระบบแอนดรอยด์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้วยนโยบายของทางกูเกิล ไม่อนุญาตให้แอปประเภท สตอล์กเกอร์แวร์ ขึ้นบนเพลย์ สโตร์ แล้ว เพราะถือว่าผิดนโยบาย หากต้องการดาวน์โหลดแอปลักษณะนี้ ต้องเป็นแอปที่อยู่นอก เพลย์ สโตร์

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าดีไวซ์ หรืออุปกรณ์ของเรา ถูกแอบติดตั้ง สตอล์กเกอร์แวร์ นั้น วิธีสังเกตเบื้องต้นนั้น ต้องดูว่าเครื่องมีอาการแบตเตอรี่หมดเร็วแบบผิดปกติหรือไม่ หรือเครื่องมีอาการร้อนจนเกินไป หรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าตำแหน่ง รวมถึงมีปริมาณการใช้ข้อมูลบนสมาร์ตโฟนสูงมาก เป็นต้น

ภาพ pixabay.com

เมื่อเครื่องถูกติดตั้ง สตอล์กเกอร์แวร์  นั้น สิ่งสำคัญก็คือ ต้องรีบลบแอปออกจากเครื่องโดยเร็ว! ซึ่งหนึ่งในวีธีที่ดีที่สุด คือ การรีเซตเครื่อง ด้วยดารตั้งค่าจากโรงงาน หรือ Reset Factory ซึ่งวีธีนี้จะช่วยทำให้เครื่องกลับ ไปตั้งค่าที่มาจากโรงงาน แอป หรือ โปรแกรมต่างๆ ที่ถูกติดตั้งจะถูกออก หรือที่เราเรียกกันว่า “ล้างเครื่อง” ซึ่งเจ้าของเครื่อควรจะมีการแบ๊กอัพข้อมูลที่สำคัญไว้ อาทิ รูปภาพ วิดีโอ รายชื่อติดต่อ เป็นต้น โดยอาจจะสำรองไว้บนคลาว์ดที่ใช้ หรือ กูเกิลไดร์ฟ ก็ได้ อยู่ที่ความสะดวกของแต่ละคน

อีกวิธีหนึ่ง คือ ที่อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง คือ ต้องอัปเดตระบบปฏิบัติการอยู่ตลอด เพราะจะช่วยอัปเดต ระบบความปลอดภัย และสตอล์กเกอร์แวร์บางตัว ได้ถูกออกแบบมาสำหรับระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าเท่านั้น การอัปเดตจะช่วยปิดการใช้งานสตอล์กเกอร์แวร์ที่ถูกติดตั้งได้ แต่วิธีนี้ไม่ใช่การลบหรือช่วยรับประกันได้ 100%

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโปรแกรมป้องกันไวรัส หรือ แอนตี้ไวรัส และตรวจจับสปายแวร์ ซึ่งปัจจุบัน ก็มีบริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้หลายแห่งพัฒนาออกมามากมาย ซึ่ง สตอล์กเกอร์แวร์ ก็ถือเป็นสปายแวร์ชนิดหนึ่ง!?!

ทั้งนี้ทาง แคสเปอร์สกี้ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ก็ได้ให้คำแนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อสตอล์กเกอร์แวร์ ที่จะมาสอดแนม ติดตาม สะกดรอย การใช้งานข้อมูลบนมือถือของเรา!!

ภาพ pixabay.com

โดยให้ตั้งค่าอุปกรณ์ให้ปิดกั้นการติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่รู้จัก และไม่เปิดเผยพาสเวิร์ด หรือพาสโค้ดของโมบายดีไวซ์ให้คนอื่นรู้ โดยให้เก็บรหัสผ่านไว้กับตัวเอง และตรวจสอบให้แน่ใจว่ารหัสผ่าน มีความซับซ้อนและไม่ซ้ำกัน!?!

เนื่องจากเหนื่อส่วนใหญ่จะเป็นหญิง จึงควรเปลี่ยนการตั้งค่าความปลอดภัยทุกอย่างเมื่อจบความสัมพันธ์ กับคู่รักหรือคู่สมรส เพื่อป้องกันการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิดได้

และตรวจสอบรายการแอปพลิเคชันในดีไวซ์หรืออุปกรณ์ เพื่อดูว่ามีโปรแกรมน่าสงสัยติดตั้งในดีไวซ์ โดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่?

สิ่งคำคัญ คือ ควรใช้โซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ เพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนเมื่อพบโปรแกรมสปายแวร์ ที่พยายามรุกล้ำความเป็นส่วนตัวในดีไวซ์ที่เราใช้งาน!!

สุดท้ายแล้ว ควรใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลของตนเอง ถ้าไม่อยากโดนสะกดรอยทางดิจิทัล!?!

Cyber Daily