เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เพจเรื่องจริงนครนายก ว่า มีชาวบ้านร้องเรียนให้ช่วยติดตามการชี้แจงรายรับ-รายจ่ายของวัดแห่งหนึ่งใน จ.นครนายก ภายหลังจากจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต มีรายได้กว่า 8.9 ล้านบาท แต่กลับมีรายจ่ายกว่า 7.6 ล้านบาท ซึ่งมีความผิดปกติ เนื่องจากภายในงานไม่ได้มีมโหรสพชื่อดังอะไร มีเพียงลิเกกับหนังกลางแปลง และมีดนตรีรำวงคืนสุดท้ายเพียงคืนเดียว

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณวัดดังกล่าว พบชาวบ้านมารวมตัวกันกว่า 30 คน เพื่อรอฟังคำชี้แจงจากทางวัด ถึงสาเหตุค่าใช้จ่ายงานปิดทองฝังลูกนิมิต ซึ่งมีความผิดปกติ โดยชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่า มีความไม่สบายใจ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในงาน เนื่องจากว่า ทางวัดได้ขึ้นป้ายรายได้ประจำวันทุกวันให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งทางวัดได้จัดงานรวม 11 วัน มีรายรับอยู่ที่ป้ายรวมทั้งสิ้น 10 วัน 8,908,290 บาท โดยวันที่ 11 วันสุดท้าย ไม่ได้ลงรายรับให้ประชาชนรับทราบ

ต่อมาชาวบ้านได้ติดตามทวงถามรายได้วันสุดท้าย และรายรับ-รายจ่าย ของงานทั้งหมด ซึ่งทางวัดได้แจ้งกับชาวบ้านว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 7,656,210 บาท คงเหลือรายได้เข้าวัดจำนวนเงิน 1,252,080 บาท ซึ่งทางชาวบ้านรู้สึกสงสัย เนื่องจากภายในงานนั้นไม่ได้มีมโหรสพดังอะไร มีเพียงลิเก หนังกลางแปลง และคืนสุดท้ายมีดนตรีรำวงเท่านั้น จึงแปลกใจที่ทำไมรายจ่ายมากมายกว่า 7.6 ล้านบาท ซึ่งเหลือเงินให้กับวัดเพียง 1,252,080 บาท ชาวบ้านจึงรวมตัวกันมาเพื่อเรียกร้องให้ทางวัดชี้แจ้งรายจ่ายทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าวัดดังกล่าว ไม่เคยจัดงานใดๆ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เจ้าอาวาสวัด ได้ให้พระครู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของอีกวัดใน จ.นครนายก นั้นเป็นผู้จัดงานให้ เนื่องจากว่าทางวัดเองนั้นไม่มีความชำนาญในการจัดงาน ซึ่งข้อมูลจากชาวบ้านได้แจ้งว่า ก่อนหน้าจะจัดงานเคยมีออแกไนซ์ได้มาเสนอจัดงานให้ โดยจะให้เงินกับทางวัดจำนวน 3 ล้านบาท แต่พระครู ได้บอกว่า ไม่ต้องใช้ออแกไนซ์ก็ได้ จะจัดให้เอง ก่อนทางวัดได้มอบหมายให้ พระครู เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่าย และจัดงานทั้งหมด โดยที่เจ้าอาวาสไม่ได้ยุ่งเกี่ยวใดๆ

แต่เมื่อจัดงานเสร็จ ทางพระครู ผู้จัดงาน ได้มอบเงินให้กับทางวัด เพียง 1,252,080 บาท และแจ้งว่าหักจากรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ซึ่งทางพระครู ได้มาชี้แจงรายจ่ายให้กับชาวบ้านฟังตามรายการดังต่อไปนี้

1.ค่าเครื่องไฟ 700,000 บาท
2.ค่าเต็นท์ 105,000 บาท
3.ค่าลิเก 250,000 บาท
4.ค่าดนตรี 40,000 บาท
5.ค่าดอกไม้ 144,420 บาท
6.ค่ารถวิ่งโฆษณา 42,000 บาท
7.ค่ารถสุขา 5,000 บาท
8.ค่าดอกไม้ไฟ 9,000 บาท
9.ค่ารถบรรทุกโต๊ะ 4,000 บาท
10.ค่าพิมพ์ซองต่างๆ 76,230 บาท
11.ค่าลอยเทียน 11,650 บาท
12.จ่ายค่า อป.พร.,ต.ส. (โบกรถ 20 คน) 110,200 บาท
13.จ่ายค่าครัวทำอาหาร 128,000 บาท
14.จ่ายค่าเครื่องดื่มกระทิงแดง 57,165 บาท
15.จ่ายค่าสวดถอน 119,000 บาท
16.จ่ายค่าพุทธาภิเษก 129,500 บาท
17.ถวายพระช่วยงาน 330,000 บาท
18.จ่ายวันเปิดงาน 137,500 บาท
19.จ่ายค่าบวงสรวง 52,000 บาท
20.จ่ายวันตัดหวาย 147,500 บาท
21.จ่ายวันบวชนาค 20,000 บาท
22.ค่าน้ำแข็ง 21,765 บาท
23.จ่ายค่าหินเกล็ด 11,139 บาท
24.จ่ายค่าไฟ 15,546 บาท
25.จ่ายร้าน เอาของมา 185,920 บาท
26.จ่ายโยม ค่าวัตถุมงคล และยืมมาจัดงาน 3,126,400 บาท
27.จ่ายค่าป้าย 405,785 บาท
28.ค่าเช่าที่ 2 เจ้า 26,000 บาท
29.จ่ายค่ากาแฟ 4,760 บาท
30.ค่าดูดส้วม 3,000 บาท
31.ค่าผูกผ้า 40,000 บาท
32.ค่าหนัง 16,000 บาท
33.ค่าโฆษก 293,000 บาท
34.ค่าเครื่องแห่นาค 12,000 บาท
35.ค่ารถขยะ 5,000 บาท
36.ค่าอื่นๆ ทั่วไป 71,730 บาท
37.ค่าไข่ปลายืมเงินไปลงทุน 600,000 บาท
38.ค่าแรงพนักงานตักไข่ปลา และเวที 200,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 7,656,210 บาท โดยมีรายรับทั้งสิ้น 8,908,290 บาท คงเหลือ 1,252,080 บาท

ภายหลังจากชี้แจง ชาวบ้านต่างพากันลุกหือ ถามประเด็นต่างๆ เช่น เงินยืม 1,400,000 บาท ยืมไปทำอะไร ที่รวมกับค่าวัตถุงมงคล แล้วเป็นจำนวนเงิน 3,126,400 บาท ค่า อป.พร. และ ต.ส. โบกรถ จำนวนเงิน 110,200 บาท ค่าโฆษก 293,000 บาทแพงไปหรือไม่ค่าไข่ปลายืมเงินไปลงทุน 600,000 บาท ค่าแรงพนักงานตักไข่ปลา และเวที 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท แล้วรายได้คืนกลับมาเท่าไหร่ ทุน 800,000 บาท แล้วได้กำไรเท่าไหร่ ทำไมไม่โชว์อยู่บนรายรับ ใน 8.9 ล้าน

อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของ พระครู ผู้รับมอบจัดงานนั้น เป็นการชี้แจงปากเปล่าไม่ได้นำหลักฐานใบเสร็จมาแสดงแต่อย่างใด ซึ่งชาวบ้านยังคงคาใจกับการชี้แจง และเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง.