เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าว เปิดตัวนางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ประจำปี 2567 และเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศ ในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ว่า ตามที่ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยยูเนสโก เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งในปี 2567 รัฐบาลโดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน กำหนดจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ในช่วงเดือน เม.ย. โดยมีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และส่วนภูมิภาค จึงขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกร่วมงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า สวธ. มีการจัดทำบทเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วยภาษาอังกฤษ จีน และฝรั่งเศส เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมกันนี้ สวธ. ยังได้แต่งตั้ง น.ส.แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ประจำปี 2023 เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2567 เพื่อร่วมถ่ายทอดคุณค่าสาระและแสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทยด้วย ทั้งนี้ สวธ. ขอเชิญร่วมกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 10 เม.ย. นิทรรศการสงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ 10-12 เม.ย. ณ ลานกลางแจ้งหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม วันที่ 12-16 เม.ย. และกิจกรรมการแสดงสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 13 เม.ย. เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น