เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มี.ค. 67 ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไป ครม. โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของวุฒิสภา ในวันที่ 25 มี.ค. นี้ ว่า ส่วนตัวเตรียมที่จะอภิปรายเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้านบาท กับกัมพูชา เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีข้อควรระวังอะไร แนวความคิดที่จะมีการเจรจาแยกกันระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนมีความอันตรายอย่างไร ขัดกับเอ็มโอยู ปี 2544 อย่างไร ทางเลือกที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนจะใช้เวลาชี้แจงเรื่องนี้ให้มีความกระจ่าง อย่างน้อยเพื่อเป็นการบันทึกไว้ แม้จะไม่เสร็จในเร็ววัน แต่จะเป็นข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลได้ฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

เมื่อถามถึง กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเดินทางไปกัมพูชาในวันที่ 18 มี.ค. นี้ จะมีผลอะไรหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถือว่าการเจรจายังไม่เริ่มต้นขึ้น การเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเจทีซี (JTC) ฝ่ายไทยขึ้นมา ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งก็ยังไม่มีการเจรจา แน่นอนว่าการที่ผู้นำพบปะกันอย่างเป็นทางการอาจจะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้หรือไม่ก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติในทางกฎหมายก็ต้องถือว่าการเจรจายังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไร ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปมุบมิบเจรจากันได้ง่ายๆ เพราะเมื่อจะต้องทำเป็นข้อตกลงก็จะเข้าข่ายเป็นข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นเรื่องนี้ในทางปฏิบัติน่าจะอีกยาวพอสมควร

นายคำนูณ ในฐานะโฆษกคณะกรรมธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า สัปดาห์นี้เป็นการทำงานสัปดาห์สุดท้ายของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วุฒิสภา เพื่อที่จะให้ประธานวุฒิสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ในวันที่ 26 มี.ค. นี้ โดยเบื้องต้นกำหนดการพิจารณาไว้เพียง 1 วัน คือวันที่ 26 มี.ค. ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อ สว. ที่แสดงความจำนงจะร่วมอภิปรายอยู่ ซึ่งคาดว่าจะลงมติให้แล้วเสร็จในช่วงค่ำวันที่ 26 มี.ค. 

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งงบประมาณ ปี 67 ถือเป็นปีพิเศษมีข้อจำกัดและขณะนี้ล่วงเลยมาจะครึ่งปีแล้ว งบประมาณที่ใช้อยู่ก็ใช้ของ ปี 66 ไปพลางก่อน และเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 67 เสร็จเรียบร้อย อีกไม่กี่เดือนร่าง พ.ร.บ.งบปี 68 ก็จะเข้าสู่รัฐสภา ฉะนั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะเห็นได้ว่าฝั่งสภาผู้แทนราษฎรมีการเร่งรัดร่นเวลาขึ้นมา 1-2  สัปดาห์ ซึ่งวุฒิสภาก็อนุมัติตาม

“เราไม่ได้ถ่วงเวลา และพิจารณาให้โดยเร็วที่สุด เพราะคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ที่เข้ามา ก็ยังไม่มีงบประมาณของตัวเองใช้เลย ฉะนั้นตนคิดว่าทุกฝ่ายพยายามให้ความร่วมมือเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป ซึ่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 จะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับแรกที่รัฐบาลชุดนี้ทำเอง และนับหนึ่งตั้งแต่ต้น” นายคำนูณ กล่าว.