เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ห่วงใยผู้เรียนอาชีวศึกษาที่จะต้องมีที่เรียนอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง จากกรณีที่มีผู้ปกครองนักศึกษาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้องเรียนว่าทางวิทยาลัยได้เชิญประชุมผู้ปกครองนักศึกษาชั้น ปวช.1 – 2 และ ปวส.1 มาประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 และแจ้งยุบปิดกิจการนั้น โดยอ้างว่ามีนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยไม่คุ้มค่าใช้จ่าย และให้นักเรียนทั้งหมดหาที่เรียนใหม่ โดยได้ติดต่อวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานีไว้ให้ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสำนักบริหารการอาชีวศึกษาเอกชน (สอช.) ซึ่งวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ได้รายงานการดำเนินการ หลังจากประชุมชี้แจง ผู้ปกครอง ดังนี้นักเรียนในระดับ ปวช.3 จบปีการศึกษา 2 รอบ คือ รอบแรก 28 คน และรอบสอง 24 คน นักเรียนในระดับ ปวส. 2 จบปีการศึกษา 2 รอบ คือ รอบแรก 28 คน และรอบสอง 22 คน โดยการรับใบระเบียนแสดงผลการเรียน (รบ.) รอบแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และรอบสองรับ รบ. ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ส่วนนักเรียนกำลังเรียน ปวส.2 (จบ ม.6) จะต้องเรียนภาคฤดูร้อนอีก 1 ภาคเรียน และจบการศึกษาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นักเรียนระดับ ปวช.1 ปวช.2 และ ปวส.1 ที่ยังไม่จบการการศึกษา ทางวิทยาลัย ฯ จะออก รบ. ศึกษาต่อให้นักเรียนทุกคนเพื่อไปสมัครเรียนต่อ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2567 หรือถ้านักเรียนต้องการ รบ. ก็จะทำหนังสือรับรองการศึกษาให้ก่อน ทั้งนี้ วิทยาลัยฯ มีความจำเป็นจะต้องจ้างครูบางส่วน เพื่อทำหน้าที่ จนเสร็จสิ้นการส่งนักเรียนให้หมดทุกคน และได้ประสานไปยัง วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโกสุราษฎร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสุราษฎร์พาณิชยการ และวิทยาลัยการอาชีพไชยา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการรับนักเรียนไปศึกษาต่อ โดยวิทยาลัยฯ จะปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องของการยุบปิดกิจการสถานศึกษาเอกชนนั้น ทางสำนักบริหารการอาชีวศึกษาเอกชน (สอช.) รายงานว่า เมื่อสถานศึกษาประสงค์ขออนุญาตเลิกกิจการโรงเรียน จะต้องยื่นคําขอเพื่อขอรับการพิจารณาอนุญาตให้เลิกกิจการโรงเรียนในระบบ พร้อมด้วยเหตุผลต่อผู้อนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนสิ้นปีการศึกษา โดย สอศ.จะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกดำเนินกิจการของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาดำเนินดังนี้ กลุ่ม 1. ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา สถานศึกษาจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจนว่า การประกาศเลิกกิจการมิใช่เป็นการเลิกกิจการทันที แต่โรงเรียนยังมีภารกิจในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครอง ในเรื่องของเอกสารหลักฐานการศึกษา และการส่งต่อนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาที่ประสงค์ไปสถานศึกษาแห่งอื่น กลุ่ม 2. ครู และบุคลากรทางการศึกษา การให้จ่ายเงินชดเชยแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ก็จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2552 ข้อ 32 และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยตนได้กำชับให้ สอช. สำรวจและรายงานข้อมูลสถานศึกษาที่ยื่นเรื่องขอหรือมีแนวโน้มที่จะปิดยุบเลิกกิจการ ให้ สอศ. ทราบเป็นรายเดือน เพื่อเตรียมรองรับผู้เรียนให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนสถานศึกษาที่ได้มีการกล่าวถึงในกรณีดังกล่าว ทาง สอศ. ได้มอบหมายให้ สอช.และ สอจ. เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลส่วนที่เป็นจุบัน พบว่าสถานศึกษามีจำนวนนักเรียนที่รับเงินอุดหนุน ปีการศึกษา 2566 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 196 คน (ข้อมูล ณ มกราคม 2567) การจ่ายเงินอุดหนุนมีหลักเกณฑ์คือ กรณีสถานศึกษาขอเลิกกิจการตั้งแต่ปีการการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ส่วนราชการจะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนตามจำนวนนักเรียนที่ได้ลงทะเบียนและเรียนอยู่จริงจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 ซึ่งหน่วยงานทั้งสอช. และสอจ.จะต้องร่วมกันดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และรายงานให้ สอศ.ทราบ อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการแจ้ง ทำความเข้าใจ และหาที่เรียนให้กับกลุ่ม 1 ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดทำรายงานดังกล่าว และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยื่นมายัง สอศ. ซึ่ง สอศ. ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและพิจารณาในเรื่องของการขอเลิกกิจการตามระเบียบต่อไป