ตามคิว 2 แมตช์สำคัญ 1.วุฒิสภาเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 วันที่ 25 มี.ค. นี้ และ 2.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152  ในวันที่ 3-4 เม.ย. นี้

โดยในส่วนของ “สภาสูง” ตลอด 15 ชั่วโมง แบ่งเป็น สว. 12 ชั่วโมง และรัฐบาล 3 ชั่วโมง ล่าสุดมีการเตรียม “30 ขุนพล” จองกฐิน 7 ปม ได้แก่ 1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหัวข้อนี้ มี สว. ลงชื่ออภิปรายมากจำนวน 7 คน อาทิ นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายสมชาย แสวงการ โดยเนื้อหายังมีเรื่องแลนด์บริดจ์ และนโยบายเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตด้วย 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย จำนวน 4 คน อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายถวิล เปลี่ยนศรี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายประพันธุ์ คูณมี และน่าจะเป็นหัวข้อที่อภิปรายเชื่อมโยงไปถึง “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีปัญหาการปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน รวมไปถึงกรณีเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดด้วย

3.ปัญหาด้านพลังงาน จำนวน 2 คน ได้แก่ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน โดยเน้นประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ขุมทรัพย์กว่า 20 ล้านล้านบาท 4.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคมจำนวน 6 คน อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายออน กาจกระโทก พล.อ.อ.เฉลิมชัย เครืองาม เนื้อหาเน้นการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด และหนี้นอกระบบ 5.ปัญหาด้านการต่างประเทศและท่องเที่ยว จำนวน 1 คน มีนายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ เน้นการวางตัวเป็นกลางและการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ 6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน มีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และ 7.ปัญหาการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 1 คน คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ฝ่ายค้าน ในวันที่ 3-4 เม.ย. นี้ ยังเก็บ หมัดเด็ด ไว้เป็นความลับ ไม่เปิดข้อสอบออกมาก่อน แต่ก็ไม่น่าจะพ้น “นโยบายเรือธงรัฐบาล-ปมสองมาตรฐานจากเคสนายใหญ่” เป็นหัวใจหลักในครั้งนี้มากกว่า  

ซึ่งทั้ง 2 เวทีอภิปรายจาก “สองสภา” คงไม่ได้ส่งผลอะไรต่อ “รัฐบาล” เพราะเป็นเพียงแค่การเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบการลงมติ เรียงคิวเชือดรายตัว ที่บรรดา “รัฐมนตรี” ที่ถูกเชือด จะต้อง วิ่งแจกกล้วย ซื้อคะแนนเสียง  ซื้องูเห่า

แต่สิ่งที่จะเป็น เอฟเฟกต์ จากการอภิปราย คือการยืมมือเชือดรัฐมนตรี นำไปสู่การปรับ ครม. “เศรษฐา 1” ต่างหาก หลังปิดสภา วันที่ 9 เม.ย. เป็นต้นไป เพราะงบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้แล้ว อีกทั้งสไตล์ “นายใหญ่” จะประเมินการทำงานทุก 6 เดือน ใครไม่เข้าตา ไม่มีผลงาน ปรับพ้น ครม. ทันที ยิ่งการตั้ง ครม.ชุดแรก เข้าทำนอง ตอบแทนบุญคุณ หลายคน และบางคนไม่สามารถทำงานเร่งผลงาน “เรือธง” รัฐบาลได้ หรือบางกระทรวงผลผงานแป้ก เจอพรรคร่วมรัฐบาลชิงผลงาน ปาดหน้าไปก็มีให้เห็น

จึงไม่แปลก ที่ผลพวงจากการอภิปรายจาก “สองสภา” จะกลายเป็นข้ออ้างนำไปสู่การปรับ ครม. แบบชิลชิล สไตล์ “นายใหญ่”