เมื่อวันที่ 21 มี.ค. องค์กร Protection International เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้นัดชุมนุมที่บริเวณถนน 201 นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ นครราชสีมา มีคำสั่งปิดเหมืองโปแตชด่านขุนทด ที่ส่งผลกระทบอย่างยาวนานกว่า 8 ปีในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ เหมืองดังกล่าวตั้งอยู่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ไปจนถึง ต.หนองบัวตะเกียด โดยได้ประทานบัตรมาเมื่อปี 2558 จากคำสั่ง คสช. หลังการทำเหมือง ชาวบ้านพบว่ามีตาน้ำผุดเกิดขึ้นหลายจุดในหมู่บ้านและที่ดินทำกินทำให้พื้นดินชื้นแฉะ บ้านเรือนเกิดการผุกร่อนเสียหายจากความเค็ม พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ที่ดินไม่สามารถทำกินได้ บ่อน้ำสาธารณะบ้านหนองไทรได้รับความเค็ม รวมถึงแหล่งน้ำประปา ก็ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องได้แบกรับภาระค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นเท่าตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าชาวบ้านจะเคยไปร้องเรียนหลายครั้งแล้ว เพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกังวลถึงกระบวนการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ในพื้นที่หนองบัวตะเกียด ที่จะทำการสำรวจแรเพิ่มเติม 3 อุโมงค์ โดยจะใช้ระเบิดในการขุดเจาะหลุมละ 500 กก. ซึ่งการขุดเจาะอยู่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน และการเปลี่ยนแปลงแผนผังดังกล่าว ไม่ได้ทำ EIA ใหม่ แต่กลับใช้ EIA ฉบับเดิม ที่เคยใช้ ในการขอประทานบัตรเปิดโครงการครั้งแรกที่ ต.หนองไทร 

ด้าน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศว่า ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก่อนจะมีคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ได้ไปประเทศจีนมา เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันทำอุโมงค์ขนส่งสินค้า และได้ไปเขียนแผนที่แบบมั่ว ๆ จากนั้นพอกลับมาได้ประกาศเร่งทำเหมืองทันที โดยไม่สนใจเลยว่าเหมืองแร่ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับชาวบ้าน สนใจแต่ว่าจะการสร้างเหมืองจะสร้างเม็ดเงินอย่างไรให้ประเทศ ไม่สนใจชีวิตคน ฝ่ายเหมืองเองก็ได้บอกกับชาวบ้านว่า ตั้งแต่ได้ประทานบัตรมาก็ยังไม่ได้ขุดเจาะอะไร ในขณะที่เหมืองแร่แห่งนี้ ได้มีการขุดเจาะเหมืองมาโดยตลอดจนเกิดผลกระทบ ซึ่งขัดกับสิ่งที่นายกฯ และเหมืองได้กล่าวไว้ ชาวบ้านที่นี่หลายคนรู้ดี เพราะชาวบ้านบางส่วนที่นี่เคยทำงานในเหมือง

ขณะที่นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ได้เข้าร่วมเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านที่จุดทำกิจกรรม โดยใช้เวลาหารือชั่วโมงกว่า ก่อนที่จะได้ข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ว่า เรื่องเหมืองแร่โปแตชเราทราบว่า ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเราก็ได้รับรู้เรื่องราวตลอดมาผ่านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ที่คอยยื่นเรื่องตลอด ซึ่งโดยส่วนตัวมีความเป็นห่วง ไม่ว่าจะผลกระทบมากหรือน้อย และก่อนหน้านี้ก็เคยได้ลงพื้นที่ และพบว่าหน้าดินเป็นเกลือ แต่เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายฝ่าย จึงต้องเช็กข้อมูลจากทุกฝ่าย และแม้ว่าผู้ว่าฯ จะย้ายไปรับหน้าที่ที่อื่น แต่เอกสารเรื่องราวผลกระทบยังคงอยู่ที่นี่

ทั้งนี้ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันร่วมระหว่างผู้ว่าฯ นครราชสีมา และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดโดยมีรายละเอียด คือ ขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไม่พิจารณาอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง จนกว่าจะได้มารับฟังข้อเรียกร้อง ความห่วงใย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการอุโมงค์เดิม และสภาพที่เกิดจากการทำเหมืองเดิม ให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี ทั้งมิติของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ขอให้ทางกลุ่มได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้ทางกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญ ที่ กพร. ใช้ในการพิจารณา ขอให้ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เจรจากับทางบริษัทเอกชน ยับยั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผังก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากทาง กพร. (ดอนหนองโพธิ์) และขอให้ผู้ว่าฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ข่มขู่ คุกคาม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด.