จากข้อมูลสถิติกรมวิชาการเกษตร พบว่าปี 2565 ประเทศไทยส่งออกมะพร้าวไปทั่วโลกรวมกว่า 6 แสนตัน และยังมีทิศทางจะเติบโตมากขึ้น โดยมีราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม เป็นพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ขยะจากเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งจากการบริโภค การแปรรูปที่มีปริมาณมหาศาลส่วนใหญ่มักถูกกองทิ้งไว้รอกำจัด เวลาฝนตกก็จะเกิดปัญหานํ้าชะกองกาบมะพร้าวที่ส่งกลิ่นเหม็นไหลลงแหล่งนํ้ากระทบกับการใช้ชีวิตของชาวบ้านในชุมชน

หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนจึงหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้กันอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมียมสัญชาติไทย ที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการพัฒนา “กาบมะพร้าวอัดแท่ง สู่พลังงานเพื่อชุมชน” ศึกษาวิจัยทดลองจนสามารถนำขยะจากกองกาบมะพร้าวในชุมชนมาผลิตเชื้อเพลิงจากกาบมะพร้าวได้สำเร็จเป็นรูปธรรม โดยถูกส่งนำไปทดลองใช้จริงแล้วในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย

นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด กล่าวว่า “โครงการ “กาบมะพร้าวอัดแท่ง สู่พลังงานเพื่อชุมชน” เกิดจากการที่เราเห็นกระบวนการในโรงงานมะพร้าวหลังคัดแยกและห่อบรรจุส่งออกเสร็จสิ้น พบว่าสิ่งที่หลงเหลือคือกาบมะพร้าวจำนวนมาก เช่นพื้นที่จังหวัดราชบุรีแค่ 2 โรงงานที่ส่งมะพร้าวให้เราพบว่ามีปริมาณขยะจากกาบมะพร้าวเกือบ 600 ตันต่อสัปดาห์ จึงตั้งสมมุติฐานว่าจะช่วยจัดการกองภูเขาขยะเหล่านี้ให้หมดไปอย่างไร โดยกำหนดโจทย์ คือ 1.วิธีการที่ทำต้องไม่เป็นภาระผู้คนและธรรมชาติ 2.ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่ทำให้กาบมะพร้าวหมดไป แต่ต้องต่อยอดสร้างประโยชน์ร่วมกับชุมชน หรือภาคส่วนอื่นได้ด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการนี้”

โดย แพลททินัม ฟรุ๊ต เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย และบริหารจัดการกาบมะพร้าว นำมาบด ตัด ตากเพื่อลดความชื้น รวมถึงจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า กำจัดขยะให้ได้เร็วขึ้น ขณะที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ เป็นผู้ทำการทดลองโดยนำกาบมะพร้าวมาเผาเพื่อวิจัยหาค่าพลังงาน และลดค่าความชื้นให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม คุ้มค่าสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง

หลังใช้เวลาทดลองกว่า 3 เดือน ก็พบว่า กาบมะพร้าวมีค่าการให้พลังงานความร้อนสูง จุดติดง่าย ไม่ดับกลางคัน แต่ด้วยอัตราการเผาไหม้ที่เร็วจึงยังไม่เหมาะกับการใช้ทดแทนถ่านไม้ในครัวเรือน แต่จะเหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีระบบเผาไหม้แบบปิด อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงปูน มากกว่า ดังนั้นจึงต่อยอดพัฒนาโครงการเป็น 2 รูปแบบเพื่อเพิ่มช่องทางกำจัดกาบมะพร้าวเหลือทิ้งให้หมดไปได้เร็วขึ้น

แบบแรก นำเศษกาบมะพร้าวผสมเศษไม้ ใบไม้ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอัดแท่งให้สามารถเผาไหม้ได้นานขึ้น เพื่อใช้ทดแทนถ่านไม้ หรือ ฟืน เพื่อให้ความร้อน โดยปัจจุบันได้ส่งไปให้ชาวสวนลำไยที่จอมทองได้ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอบลำไย ซึ่งก็ให้การตอบรับที่ดี และในส่วนนี้กลุ่มครัวเรือนสามารถนำไปใช้ร่วมกับวัสดุอื่น เช่น เศษฟืน หรือ เศษใบไม้ เพื่อเลี้ยงไฟให้ได้นานขึ้น

แบบที่สอง นำเศษกาบมะพร้าวแบบสับและแบบผงไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและอยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือระยะยาว

ข้อดีของเชื้อเพลิงกาบมะพร้าว ที่เราพัฒนาได้ คือ 1.ให้ค่าพลังงานความร้อนสูง 2.ส่งต่อให้ชุมชนใช้ในครัวเรือน 3.ช่วยกำจัดขยะจากกาบมะพร้าวในชุมชนได้เร็วขึ้น 4.ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

“เชื้อเพลิงกาบมะพร้าว” ถือเป็นพลังงานทดแทน ที่แพลททินัม ฟรุ๊ต ภาคภูมิใจ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจัดการขยะกาบมะพร้าวให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุดให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมขยายพื้นที่จัดการเศษกาบมะพร้าว เพื่อเพิ่มจำนวนการจัดการให้ได้มากและเร็วยิ่งขึ้น.