สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่า นายพอล หลั่ม รัฐมนตรีด้านยุติธรรมของคณะผู้บริหารฮ่องกง กล่าวว่า การรีโพสต์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ อาทิ แถลงการณ์ของรัฐบาลต่างประเทศบางแห่ง และบุคคลซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศ หากมีการเพิ่มความคิดเห็นส่วนบุคคลและการเพิ่มเนื้อหา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกปั่น และยุยงให้ประชาชนมีความเกลียดชัง ต่อคณะผู้บริหารฮ่องกง และรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง “มีความเสี่ยง” ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่


กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกง ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กฎหมายพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติ” มีผลบังคับใช้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยกฎหมายดังกล่าว เป็นที่รู้จักสำหรับชาวฮ่องกงว่า “กฎหมายมาตรา 23” จากการที่คณะผู้บริหารฮ่องกงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 ของเบสิก ลอว์ หรือกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ที่ระบุว่า ฮ่องกงควรบัญญัติกฎหมายเป็นของตัวเอง เพื่อยับยั้งการกระทำการใดก็ตาม ที่เป็นการทรยศ การแยกตัว การยุยงปลุกปั่น และการโค่นล้มรัฐบาลปักกิ่ง


ทั้งนี้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของฮ่องกง มีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แบ่งฐานความผิดออกเป็น 5 ประการ ได้แก่ การก่อกบฏ การปลุกระดม การจารกรรมและการขโมยข้อมูลรัฐ การก่อวินาศกรรรมเพื่อทำลายความมั่นคง และการแทรกแซงจากภายนอก


กฎหมายกำหนดบทลงโทษสูงสุด จำคุกตลอดชีวิต สำหรับ “การก่อวินาศกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” ซึ่งรวมถึง การก่อกบฏและการปลุกระดม บทลงโทษจำคุกนานสูงสุด 20 ปี สำหรับการจารกรรม และบทลงโทษจำคุกนานสูงสุด 14 ปี เกี่ยวกับการแทรกแซงจากภายนอก


นอกจากนี้ กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกง ยังระบุเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน ของกฎหมายต่อต้านการปลุกระดม ซึ่งบัญญัติในสมัยฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมจักรวรรดิบริติช โดยกำหนดให้การห้ามปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน และระบบสังคมนิยมของจีน เป็นความผิด และมีบทลงโทษจำคุกเป็นเวลานานสูงสุด 10 ปี.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES