ถ้าชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง การพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกต่างๆจะมีประสิทธิภาพประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่นายสมพร ใช้บางยาง กล่าวว่า “อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นใช้ต้นทุนของชุมชนมาร่วมกันพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเกิดความเข้มแข็งในชุมชนได้แบบยั่งยืน สามารถต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งกระทบที่เข้ามาได้อย่างไม่หวั่นไหว” การสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ให้มีไฟป่า ไม่ให้มีการบุกรุก เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันอย่างยั่งยืน

ป่าภูหลง เทือกเขาภูแลนคา แหล่งอาหารชุมชนของชาวบ้าน ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มีพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด พืชสมุนไพร สัตว์ป่า เกิดการบุกรุกป่า และมีปัญหาไฟป่าที่สร้างความเสียหายบนผืนป่ามากกว่าหมื่นไร่ บนแนวป่าภูหลงและป่าชุมชน บนเทือกเขาภูแลนคา ปี พ.ศ.2559 เกิดไฟไหม้ป่าชุมชนที่มีความรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียให้ผืนป่า จำนวนเกือบ 3,000 ไร่ และในปี 2563 ป่าภูหลง เกิดไฟป่าซ้ำอีก เสียหายไปมากกว่า 1,300 ไร่ รวมทั้งการบุกรุกป่าจากประชาชนจากภายนอกเข้ามาหาของป่าและเกิดการทำลายทรัพยากร รวมทั้งมีนายทุนและนายพรานป่าที่เข้ามาล่าสัตว์อยู่เสมอจนทำให้เกิดผลกระทบ และความเสียหายกับป่าชุมชนเป็นบริเวณกว้าง เกือบ 500 ไร่ ซึ่งหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ในอนาคตทรัพยากรอาจจะไม่เหลือถึงลูกหลาน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเข้าไปหนุนเสริม กระตุ้น สานพลัง จุดประกาย ด้วยกลไกให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกันป้องกัน ฟื้นฟู ดูแลรักษาป่า โดยตั้งเทศบาลตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิเป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เชื่อมร้อยกับเครือข่ายทั้ง 3 อำเภอ คือ แก้งคร้อ เกษตรสมบูรณ์ และภูเขียว จำนวน 8 อปท. ที่มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาภูแลนคา ร่วมวางแผนดำเนินงาน ป้องกัน เกิดการขยายเครือข่ายต่อยอดอบรมเยาวชนผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงฟื้นฟูในอนาคต

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 และประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สสส. กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการภูมินิเวศ มีเป้าหมายพัฒนาขีดความสามารถของเทศบาลตำบลธาตุทอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ใช้ทุนทางสังคม และศักยภาพพัฒนาพื้นที่ พัฒนาผู้นำ พัฒนานวัตกรรม บริหารจัดการทรัพยากร แก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน โดย สสส. สนับสนุนองค์ความรู้ เชื่อมร้อยท้องถิ่นเครือข่ายภูมิภาคเดียวกัน ในการทำงานดูแลทรัพยากรป่าภูหลง เกิดการพัฒนาระบบกลไกการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และฐานข้อมูล แต่ว่าผลลัพธ์ของการเกิดขึ้นทั้งหมด มาจากความเข้มแข็งของชุมชนเอง และมองเห็นการประสบความสำเร็จ เป็นเครือข่ายเชิงประเด็นที่พบปัญหาร่วมกันและจับมือกันแก้ปัญหาเป็นเครือข่าย

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การสนับสนุนของสสส. เน้นทำงานแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ในการขับเคลื่อนงานจะทำงานกับเทศบาลตำบลธาตุทอง และสมาชิกองค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายอีก 8 แห่ง โดยเทศบาลธาตุทองเข้าสู่กระบวนการเป็นเครือข่าย ร่วมเรียนรู้กับ4 องค์กรหลัก ดึงแกนนำ และใช้ข้อมูลที่มีในพื้นที่มากำหนดประเด็น ในการทำงาน สสส. เน้นกระบวนการทำงาน 3 ส. คือ ส.แรก ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วใช้ข้อมูลมาเป็นฐานในการแก้ไขปัญหา ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม/ /ส.ที่ 2 ดึงเครือข่ายมาร่วมกันพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของผืนป่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากที่ สสส. เข้ามาเป็นตัวเชื่อม ยึดโยงแกนนำต่างๆโดยผ่านกลไกลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส.ที่ 3 สสส.เป็นองค์กรที่จุดประกายกระตุ้น สาน เสริมพลัง ช่วยยึดโยง แกนนำต่างๆผ่านกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเป้าหมายอยู่ที่ชุมชนมีความสุข มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่นี่ถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จ เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ ต้นแบบเพื่อกระจายไปในเครือข่ายต่างๆ

นายไพบูลย์ บุญโยธา รองปลัด และรักษาราชการปลัดเทศบาลตำบลธาตุทอง จังหวัดชัยภูมิ  หลังจาก สสส.มาทำเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ทำให้สามารถเชื่อมโยง อพท.ทั้ง 9 แห่ง มาร่วมกันทำงาน จนเกิดความเชื่อมโยงกลไกต่างๆ มีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรป่าร่วมกัน มีการฟื้นฟู อนุรักษ์และการป้องกันไปในแนวทางเดียวกัน ในช่วงหน้าฝนบริหารจัดการเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ช่วงหน้าแล้งวางแผนงานเรื่องของการจัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า ในช่วงเดือนมีนาคมคณะกรรมการวางวงแผนป้องกันและเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ซึ่งปัจจุบันนี้คณะกรรมการป่าชุมชนมีความเข้มแข็งและขยายวงกว้างในเรื่องของการจัดฝึกอบรมหน่วยอาสาสมัครภูหลง ทำให้เรื่องศักยภาพของการดับไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมไฟไหม้ป่าเป็นร้อยครั้ง หลายปีที่ผ่านมาลดน้อยลงมาก

นาวสาวสิริสุดา บุตะเขียว แกนนำเยาวชนตำบลธาตุทอง จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่าป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในปี 2559 รู้สึกหดหู่ ทำให้อยากมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาป่าแห่งนี้ และคิดว่าถึงจะเป็นเด็กก็ช่วยกันดูแลรักษาป่าได้ เพราะว่าทุกคนก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน ทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลธาตุทอง ร่วมปลูกป่า เพาะกล้าไม้ปลูกเพิ่มเติม ทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟ รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญที่ในการดูแลรักษาป่าได้ให้คงอยู่ต่อไป

ปัจจุบันนี้ พื้นที่ป่าภูหลงเกิดไฟไหม้น้อยมาก ทั้งหมดนี้มาจากความร่วมมือกันปกป้อง ดูแล รักษาผืนป่า จนนำมาสู่ข้อปฏิบัติใน 4 มาตรการ คือ 1.ป้องกันการเกิดไฟป่า เพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 2.ดูแลรักษาป่าด้วยการพัฒนาศักยภาพทีมอาสาเฝ้าระวังไฟป่า ฝึกอบรมเครือข่ายผู้นำเด็กและเยาวชน ปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของคนอยู่ร่วมกับป่า 3.ฟื้นฟูและอนุรักษ์ ปลูกป่าทดแทน สร้างฝายชะลอน้ำ 4.การใช้ทรัพยากรจากป่า ควบคุมการนำผลผลิตจากป่ามาใช้อย่างเหมาะสม ประกาศปิดป่าชั่วคราวเพื่อให้พื้นป่าได้สร้างระบบนิเวศตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยที่คนอยู่กับป่าได้และป่าก็อยู่กับคนได้ เพราะเมื่อใดที่เกิดไฟไหม้ ป่าหมด แหล่งอาหารถูกทำลายไปด้วย