นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. รับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500  เมกะเฮิรตซ์ โดยขณะนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านด้งกล่าว โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า การกำหนดนโยบายจะพยายามฟังรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย

“นอกจากธุรกิจทีวีดิจิตอลแล้ว ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังดูทีวีจากดาวเทียม และยังมีประเด็นเรื่องอัตลักษณ์แห่งชาติ และความสำคัญด้านวัฒนธรรม ซึ่งทีวีดิจิตอลได้สร้างสรรค์แก่ประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้การดำเนินการใดๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย โดยเรื่องนี้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาจนำมาใช้ได้ในหลายกรณี อาทิ ไพรเวท 5จี รวมถึงขยายแบนด์วิดธ สำหรับการใช้งาน 5จี ในประเทศ”

พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร

นายสรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ในการนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหน่วยงาน จีเอสเอ็มเอ ภูมิภาคเอเปค ก็เคยแสดงข้อกังวลในประเด็นนี้ นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาความต้องการของตลาด ความพร้อมของอุตสาหกรรมที่จะนำคลื่นย่านนี้มาใช้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ด้วย

ต่อพงศ์ เสลานนท์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล นำโดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) พร้อมด้วยผู้บริหารจากช่องทีวีดิจิตอล ได้แสดงความกังวลว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคมจะส่งผลให้ทีวีดิจิตอลไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก เนื่องจากในปัจจุบันทีวีดิจิตอลยังคงพึ่งพาดาวเทียม ซี-แบนด์ ในการแพร่ภาพ การคงคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ไว้ใช้สำหรับดาวเทียม ซี-แบนด์ จึงเป็นวิถีทางอยู่รอดของผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลที่จะต้องประกอบธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

“คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นดังท่อออกซิเจนที่ทำให้ทีวีดิจิตอลอยู่รอดต่อไปได้ หากไม่มีคลื่นย่านนี้สำหรับ ซี-แบนด์  ก็เหมือน กสทช. ถอดปลั๊กเครื่องช่วยหายใจของทีวีดิจิตอล” นายสุภาพ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักดีถึงความจำเป็นทางด้านกฎหมาย และความสำคัญของคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์
ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นคลื่นสำหรับ IMT อย่างน้อยที่สุดขอให้ชะลอการนำคลื่นย่านดังกล่าวคืนมาใช้เพื่อกิจการโทรคมนาคม โดยขอให้อย่างน้อยใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลสิ้นสุดลงในปี 2572 ก่อน