วันที่ 24 เม.ย. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียก 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หารือพร้อมขอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกลุ่มลูกค้าเปราะบางนั้น ทางสมาคมธนาคารไทยจะหารือกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นกลไกตลาด เป็นเรื่องแต่ละธนาคารต้องไปพิจารณา จะมีมาตรการอะไรมาเสริมมาตรการดูแลลูกหนี้เปราะบางที่มีในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาคมธนาคารไทย

ปิติ ดิษยทัต

ขณะที่ทาง ธปท.โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามา และส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไป ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดอัตราดอกเบี้ย แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% อาจไม่ได้มีผลช่วยเยอะ และถ้าต้องลดดอกเบี้ยมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“ตัวช่วยหลักไม่ใช่ลดดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างรายได้ เช่น รายได้ที่เกิดขึ้นจากแรงส่งจากส่งออกต่างประเทศ มองว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่ไม่ให้ซ้ำเติมปัญหามากกว่า โดยเชื่อว่าในปีนี้และปีหน้ารายได้จะเพิ่มค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับกระบวนการสินเชื่อ ก็เป็นกระบวนการของธนาคารเอง ซึ่งในเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ทาง กนง.ก็จะจับตาว่าภาวะการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร”

สุรัช แทนบุญ

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ถ้าดอกเบี้ยนโยบายลดลง 1% ภาระดอกเบี้ยจ่ายช่วงแรกจะลดลงเป็นหลุม ภาระดอกเบี้ยจ่ายลด แต่ระยะกลาง ภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น เพราะการก่อหนี้เกิดขึ้น นำมาสู่ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูง แม้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงระยะสั้น แต่ผลต่อหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น โดยในระยะยาวเมื่อก่อหนี้มากขึ้น จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว