วันนี้ (22 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ และให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์

โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มอบหมายให้ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี พร้อมด้วยนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. มีความตั้งใจในการผลักดันบริการโทรคมนาคม ที่ครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพการแข่งขันเชิงพาณิชย์ต่ำ หรือพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นการลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมให้กับประชาชนทุกคน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเท่าทันภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล อย่างเต็มตัวถึงแม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิตประจำวันและมีบทบาทสำคัญในการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ความท้าทายที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ สกมช. ในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อเป็นการยกระดับทักษะทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า โครงการที่สำนักงาน กสทช. และ สกมช. จะดำเนินการร่วมกันในปีนี้ คือ การจัดกิจกรรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” ภายใต้โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ตสาธารณะหรือว่าศูนย์ USO Net จำนวน 2,184 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้าใจง่ายเน้นการเรียนรู้ในรูปแบบทฤษฏีและปฏิบัติ ให้ผู้ใช้งานค้นหาช่องโหว่ตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุดกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 8 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้ความรู้ประชาชน และเด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์

“การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงาน กสทช. และ สกมช. ในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างจริงจัง และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้เปราะบาง และประชาชนในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. ตระหนักและให้ความสำคัญ ผมหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเพื่อสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” นายไตรรัตน์ กล่าว

ด้าน พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกมช. ได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพทางออนไลน์ ซึ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ประชาชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ถูกแอบอ้าง สกมช. ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยมุ่งสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง และสำหรับโครงการอบรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะดำเนินการในปีนี้ ผ่านศูนย์ USO Net ทั้ง 8 จังหวัด ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำแพลตฟอร์ม NCSA MOOC ขยายสู่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์ให้กับคนไทย ให้มีองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน จะนำพาไปสู่การเดินหน้ายกระดับการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อยับยั้งความเสียหายได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่จะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายหลักสำคัญคือการเสริมภูมิคุ้มกันคนไทยทั่วทุกภูมิภาค ให้ได้ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์อย่างมีความสุขและปลอดภัย