น.ส.สุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสรุปผลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยนำข้อมูลจากการสำรวจภาวะการ ทำงานของประชากร และการสำรวจแรงงานนอกระบบ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในไตรมาสที่ 3 (ก.ค-ก.ย.) มาทำการประมวลผลเพิ่มเติมในส่วนของผู้มีงานทำที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13.64 ล้านคน หรือ 19.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่จำนวน 5.11 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 37.5 % ของผู้สูงอายุทั้งหมด และเป็น เพศชาย 48.1% และเพศหญิง  29.7%

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณร้อยละ 25.0 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และพบว่าเป็นผู้สูงอายุที่ทำงาน และอาศัยอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาชีพของผู้สูงอายุมากกว่า 50% เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง รองลงมาเป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า โดยมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 39 ชั่วโมง

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อว่า สำหรับค่าจ้าง หรือ เงินเดือนของผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นลูกจ้าง พบว่า ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 12,151 บาท โดยภาคการเกษตรได้รับค่าจ้างน้อยที่สุด 5,796 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน มากถึง  86.8% และประสบปัญหาในเรื่องค่าตอบแทนและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน

“ผลสำรวจครั้งนี้ สามารถใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และผู้ดูแลสิทธิการทำงาน และความคุ้มครองแรงงานไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและการคุ้มครองต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์และความเป็นธรรมในการทำงานต่อไป ซึ่งควรต้องมีการวางแผน การบริหารจัดการรองรับกับผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น และช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การคุ้มครอง และหลักประกันทางสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับผู้สูงอายุ” น.ส.สุวรรณี กล่าว