“ทีมข่าวชุมชนเมือง” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ถึงการปรับปรุง-ซ่อมแซมทางเท้าใหม่ โดยสำนักการโยธารับผิดชอบ 16 เส้นทาง ว่า ครั้งนี้มีทั้งการซ่อมแซมของเดิมที่ประชาชนร้องเรียนมาผ่าน “ทราฟฟี่ฟองดูว์” และมีการปรับปรุงใหม่อีก 16 เส้นทาง โดยเส้นที่ปรับปรุงใหม่นั้นจะมีการย้ายสิ่งของที่กีดขวางบนทางเท้าออก เพราะบางจุดทางเท้าแคบจำเป็นต้องนำออก เพื่อให้สัญจรได้ง่ายขึ้น

รวมถึงต้นไม้ต่างๆ จะร่วมกับกลุ่มคนรักต้นไม้ในการดูแลต้นไม้ที่อยู่บริเวณทางเท้า ซึ่งบางจุดมีการใช้ “พอรัสแอสฟัลต์” (Porous Asphalt) ปูบริเวณโคนต้นไม้ ทดแทนการปูอิฐบล็อก เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้า ซึ่งวิธีนี้เมื่อมีการซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้าก็จะทำให้แก้ไขได้ง่ายและรวดเร็ว

พร้อมย้ำความมั่นใจกับคนเดินเท้าว่าทางเท้าที่ทำ การปรับปรุงตามมาตรฐานใหม่ จะไม่เกิดปัญหาเดิมๆ เนื่องจากการก่อสร้างและซ่อมแซมทางเท้าครั้งนี้ใช้รูปแบบการเทคอนกรีต และเสริมตะแกรงเหล็กไวร์เมช 10 เซนติเมตรแล้วปูกระเบื้องทับ ต่างจากแบบเดิมที่การทำทางเท้าคือ เททรายลงไปแล้วปูตัวหนอนทับ ทำให้เวลาเดิน แผ่นตัวหนอนพลิกและน้ำกระเด็นขึ้นมา

ส่วนอีกรุ่นในอดีตคือเป็น Lean Concrete หรือคอนกรีตเปลือย ไม่มีเหล็กเสริม ดังนั้นเมื่อมีรถวิ่งขึ้นไปก็ทำให้แผ่นคอนกรีตแตกได้ ของใหม่จึงมีการเสริมตะแกรงเหล็กให้แข็งแรง ทั้งนี้ ยังคงเข้มงวดห้ามไม่ให้รถขึ้นไปวิ่งบนทางเท้าเช่นเคย

รองผู้ว่าฯกทม. เผยว่า ทางเท้าใหม่บางจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมี “กิมมิค” ของฝาท่อระบายน้ำที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของย่านนั้นๆ เช่น ทางเท้าถนนราชดำริจนถึงแยกเพลินจิต นอกจากจะดำเนินการปรับใหม่แล้วเสร็จทั้ง 2 ฝั่ง ฝาท่อยังมีลวดลายสวยงามบ่งบอกถึงความเป็นย่านๆ นั้นด้วย

นอกจากนี้ ทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่จะปรับปรุงเป็นแบบ Universal design ให้เหมาะกับคนทุกประเภท ทุกวัย รวมถึงผู้พิการ ซึ่งสำนักการโยธาพยายามปรับปรุงมาตรฐานในการทำทางเท้าใหม่ให้เป็นตามมาตรฐานโลก ณ ปัจจุบัน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นลักษณะนี้ทั้งเมืองในอนาคต

สำหรับมาตรฐานทางเท้าใหม่ที่ กทม. ได้กำหนดเอาไว้มีเป้าหมายเปลี่ยนทางเท้าทั่วกรุงให้ทุกคนเดินทางได้จริง โดย มาตรฐานใหม่ 10 ข้อ เริ่มนำร่องกับ 16 เส้นทาง ดังนี้

1.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร 2.ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร 3.เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร

4.ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย 5.ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล 6.เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย

7.เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ 8.วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า 9.วางอิฐนำทาง (Braille Block) อำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตา และ 10.ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น

รองผู้ว่าฯกทม. ระบุ ที่ผ่านมาจุดที่ประชาชนร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกรณีที่มีหน่วยงานสาธารณูปโภคไปขุดเจาะแล้วทำคืนได้ไม่ดี ทำให้เกิดชำรุด ซึ่งตรงนี้ กทม.ก็ต้องกวดขันมากยิ่งขึ้นโดยให้หน่วยงานที่รื้อต้องทำกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้มีการปรับมาตรฐานใหม่แล้ว

ดังนั้น จึงต้องสื่อสารออกไปให้หน่วยงานเหล่านี้ทราบและทำตามมาตรฐานของ กทม. ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นตรงจุดไหนที่มีปัญหาทางเท้าพัง ชำรุด สามารถถ่ายรูปแจ้งผ่าน LINE @Traffyfondueได้.