เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวถึงการพบกากแคดเมียมภายในโรงงาน จ.สมุทรสาคร ว่า จากการตรวจของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในถุงกากแคดเมียมและสังกะสี มีปริมาณแคดเมียม 24,884 มก./กก. ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายเนื่องจากมีปริมาณวัสดุเจือปนแคดเมียมสูงเกิน 100 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 และดินในโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 7,159 มก./กก. ดินภายในโรงงานนอกโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 31,584 มก./กก.รวมทั้งดินหน้ารั้วโรงงาน พบปริมาณแคดเมียม 2,838 มก./กก.ปริมาณมลพิษแคดเมียมที่สูงมากอย่างนี้ นับว่าเป็นของเสียอันตราย ซึ่งวิธีการกำจัดมลพิษอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอุตสาหกรรมอันตรายที่ถูกต้องและถูกหลักวิชาการ คือการให้บริษัทรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมมาดำเนินการ ด้วยการนำกากของเสียอันตรายเหล่านี้ไปกำจัดในโรงงานของบริษัทด้วยการใช้ความร้อนและเทคโนโลยี ทำให้มลพิษเหล่านี้หมดไป เป็นของเสียที่ไม่มีมลพิษ แล้วฝังกลบตามหลักวิชาการในพื้นที่ของบริษัท รัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าตรวจสอบมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทั้งในตัวกากของเสียเอง พื้นดินโดยรอบและใกล้เคียงแหล่งมลพิษ แหล่งน้ำโดยรอบ อากาศทั่วบริเวณ และการแพร่กระจายรั่วไหลขอมลพิษที่อาจเกิดขึ้น ในทุกที่ที่มีกากของเสียอุตสาหกรรมนี้ปนเปื้อนอยู่ หากพบเป็นจำนวนมากและอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ก็ต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมมลพิษต้องดำเนินการแจ้งและกำกับให้ผู้ก่อมลพิษมาฟื้นฟูแก้ไขและกำจัดมลพิษเหล่านี้ให้หมดไป หากยังไม่สามารถหาผู้ก่อให้เกิดมลพิษได้ หรือผู้ก่อให้เกิดมลพิษไม่รับผิดชอบ หรือหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมประชาชน กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรีบเข้ามาแก้ไขฟื้นฟูและกำจัดมลพิษเหล่านี้เอง แล้วค่อยไปเรียกค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษในภายหลัง เหมือนดังกรณีเหมืองแร่ บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรส ประเทศไทย จำกัด ปล่อยของเสียการทำแร่ตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ใน จ.กาญจนบุรี แล้วไม่รับผิดชอบ ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้กรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่ตามกฎหมายในการกำจัดมลพิษให้หมด จนชาวบ้านสามารถใช้น้ำ บริโภค สัตว์น้ำ อยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกำจัดมลพิษ

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในด้านสุขภาพของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าตรวจเลือดผู้ที่เกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบจากสารพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งจะมีผลต่อร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพียงตรวจปัสสาวะในพนักงานไม่กี่คน การตรวจเลือดต้องตรวจสารที่อาจเกี่ยวข้องและเป็นสารพิษทุกชนิด อาทิ ตะกั่ว สังกะสี ไม่ใช่ตรวจเพียงแคดเมียมสารเดียวและรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะต้องมีนโยบายและมาตรการที่จะไม่ให้มีและไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน.